วันนี้ (30 กันยายน 2565) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีลักษณะอากาศจะแปรปรวน มีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง มีปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 20 – 30 รวมถึงอิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน “โนรู” ที่ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงนี้ ทั้งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ในบริเวณดังกล่าวยังต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งอาจมีพายุลูกใหม่พัดผ่านประเทศไทยได้อีก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ในขณะเกิดสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่จังหวัดไม่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นได้ทันที ทั้งในด้านการดำรงชีพ การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การเข้าระงับสาธารณภัยเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน หรือป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่ประชาชนได้ตามความจำเป็น โดยไม่จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาก่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่า ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณน้ำมาก และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับมือ ประเมินสถานการณ์ พร้อมติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติให้เร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชน ในการเก็บรักษาทรัพย์สิน การยกของขึ้นที่สูง กั้นกระสอบทราย การอำนวยความสะดวกเรื่องการสัญจรในพื้นที่กรณีเกิดอุทกภัย และการตรวจสอบพื้นที่จุดเสี่ยงไฟฟ้ารั่วไหล และเน้นย้ำไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนในขณะเกิดสาธารณภัยได้ในทันที ทั้งการจัดตั้งศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง (ชั่วคราว) โรงครัวพระราชทาน และขอรับสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถุงยังชีพจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชน มีอาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัย สามารถดำรงชีพได้
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 383/2565 วันที่ 30 ก.ย. 65