วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) เวลา 14.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ แฟนเพจเฟซบุ๊กอยุธยา – Ayutthaya Station ได้โพสต์ภาพบ้านบริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา พร้อมระบุข้อความว่า “ช่วยด้วยค่ะ ไม่รู้จะทำไงแล้ว หนุนจนหัวติดหลังคา ได้แต่ร้องไห้ ไม่มีที่จะอยู่ แฟนก็มาป่วยหนัก แม้แต่หม้อหุงข้าวตอนนี้ก็ไม่มีแล้วค่ะ” ซึ่งในภาพดังกล่าวจะเห็นระดับน้ำท่วมบ้านจนสูงเกือบถึงหลังคาบ้าน ชาวบ้านต้องใช้แค่เรือสัญจร และใช้ชีวิตกันด้วยความยากลำบาก ซึ่งเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันนี้ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอำเภอเสนา นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกระทุ่ม ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทราบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมแม่น้ำน้อย เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมทุกปี และเป็นจุดแรกที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ในขณะลงพื้นที่ เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวไม่อยู่ เนื่องจากพาสามีไปพบแพทย์ จึงได้มอบถุงยังชีพ และฝากความห่วงใยไว้กับพี่สาวเจ้าของบ้านแทน
“สำหรับพื้นที่ตำบลบ้านกระทุ่มนั้น เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้รับผลกระทบแล้ว รวม 53 วัน โดยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นดังกล่าวเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นดังกล่าวเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย ทั้งนี้ พื้นที่ตำบลบ้านกระทุ่ม ได้รับถุงยังชีพพระราชทาน และถุงยังชีพแล้ว จากหน่วยงานต่าง ๆ รวมจำนวน 5 ครั้ง ได้แก่ 1) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 2) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 3) สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 4) พระอาจารย์แจ้ วัดน้อมประชาสรรค์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 และ 5) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้นายอำเภอเสนา พร้อมด้วยเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เร่งเข้าไปดูแลและให้การช่วยเหลือ มอบถุงยังชีพ และเครื่องอุปโภค-บริโภค ในการดำรงชีพแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งที่พักอาศัยชั่วคราว (เต็นท์) เพื่อให้การดูแลสามีที่ป่วยในบ้านหลังดังกล่าวอย่างใกล้ชิดแล้ว” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ทุกจังหวัดบูรณาการความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชนจิตอาสา ระดมสรรพกำลังทั้งกำลังคน และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ในการเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมทั้งเตรียมความพร้อมของศูนย์อพยพ หรือ ศูนย์พักพิงให้มีอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านน้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งต้องเร่งสร้างให้การรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพื่อให้ไม่เกิดการตื่นตระหนก รวมถึงสามารถเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากหน่วยงานรัฐได้ ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยในด้านสาธารณภัยต่าง ๆ สามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 393/2565 วันที่ 4 ต.ค. 65