เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย โดยปรากฏสำเนาเอกสารประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 245 ง ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ระบุชื่อบุคคลลำดับที่ 35 นายหาวเจ๋อ ตู้ เอกสารหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 ของ นายหาวเจ๋อ ตู้ และปรากฏข้อความระบุว่า “อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือ ผู้ที่ให้สัญชาติไทยแก่ตู้ห่าว”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ ว่า นายหาวเจ๋อ ตู้ แต่เดิมเป็นบุคคลสัญชาติจีน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ได้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ต่อกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กรณีเป็นสามีของบุคคลสัญชาติไทย และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานและคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอฯ และนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การขอถือสัญชาติไทยตามสามี และการขอกลับคืนสัญชาติไทย ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ซึ่งมีรองอธิบดีกรมการปกครองเป็นประธาน ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกรมการกงสุล ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอนุกรรมการ และได้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย เพื่อเสนอแนะและให้ความเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้ใช้ดุลพินิจตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ พิจารณาอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ทำพิธีปฏิญาณตน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติครั้งดังกล่าว มีมติเห็นควรเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจอนุญาตให้คนต่างด้าวแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ จำนวน 12 ราย เพราะเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนของการได้สัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1) บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ 2) มีความประพฤติดี 3) มีอาชีพเป็นหลักฐาน 4) มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี 5) มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และนายหาวเจ๋อ ตู้ เป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งการพิจารณาฯ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้ นายหาวเจ๋อ ตู้ เป็นผู้ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยได้เมื่อปี 2556
“ส่วนในขั้นตอนการลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การได้สัญชาติไทย ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 245 ง ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ซึ่งปรากฏชื่อ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวนั้น “เป็นเพียงขั้นตอนสุดท้ายในการปฏิบัติให้ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ” เท่านั้น เพราะพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 มีหน้าที่ต้องลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย ไม่มีสิทธิ์ในการใช้ดุลพินิจที่จะเลือกว่าจะลงนามหรือไม่ลงนาม ดังนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงไม่ใช่ผู้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้นายหาวเจ๋อ ตู้ แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ แต่อย่างใด ข่าวดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 575/2565 วันที่ 28 พ.ย. 2565