วันนี้ (2 ธ.ค. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้อาจารย์สุจิตรา ศรีนาม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านการขับเคลื่อนการจัดการขยะต้นทางและการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ลงพื้นที่ซักซ้อมกระบวนการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body :VVB) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปรก จ.สมุทรสงคราม เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้า รับฟังปัญหา และให้คำแนะนำการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ จากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี นายชำนาญ มีขำ รักษาราชการแทนท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม นางวลัยพรรณ กิติลือ ท้องถิ่นอำเภอเมืองสมุทรสงคราม นายชนะ อินทรโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปรก ภาคีเครือข่าย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมให้การต้อนรับ
อาจารย์สุจิตรา ศรีนาม ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้ความสำคัญในการดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะครบวงจรตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยได้นำข้อสั่งการของพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อให้สอดคล้งกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ขับเคลื่อนการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. ซึ่งการมาตรวจติดตามในวันนี้ไม่ได้เป็นการมาตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการมาเพื่อรับรู้รับฟังปัญหาของการปฏิบัติงานของคนในพื้นที่ และพี่น้องประชาชนซึ่งเข้าร่วมการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ อยากให้เกิดการตระหนักรู้ของคนในพื้นที่ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานนำข้อมูลความรู้ต่างๆ ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อย่างแท้จริง เกิดเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่าย โดยเริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการจากครอบครัวสู่ชุมชน และขยายผลไปยังวัด โรงเรียน หรือ รพ.สต. ในเขต เพื่อให้โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เกิดความยั่งยืน และมีการต่อยอดโครงการฯ ต่อไป
“จากการลงพื้นที่ ชุมชนหมู่ 1 และหมู่ 10 ในเขต อบต.บ้านปรก พบว่า ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องของกลิ่นจากถังขยะเปียก ซึ่งคณะทำงานได้อธิบายถึงกระบวนการของการทำถังขยะเปียก และให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านกวนเศษอาหารในถังขยะเปียกให้บ่อยขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มอากาศเข้าไปในถัง คนให้เศษอาหารใหม่ลงไปก้นถัง เพื่อให้เศษอาหารใหม่ได้ย่อยสลายได้เร็วมากขึ้น และพบว่า ในบางครัวเรือนมีพื้นที่ที่ไม่สามารถจัดทำถังขยะเปียกในบริเวณครัวเรือนของตนเองได้ ผู้บริหารท้องถิ่นได้มีการจัดให้มีถังขยะเปียกในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเดินนำเศษอาหารไปใส่ในถังขยะเปียกได้“ อ.สุจิตราฯ กล่าว
อ.สุจิตรา ศรีนาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอชื่นชมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้มีการนำข้อมูลความรู้ที่ตนเองได้รับมาประยุกต์ใช้ และปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เช่น การนำสารบำรุงดินที่ได้จากขยะเปียกไปใช้บำรุงต้นไม้ ส่งผลให้ต้นไม้ออกดอกออกผล นำผลผลิตที่ได้มารับประทานในครัวเรือน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และได้พบเห็นชาวบ้านที่สามารถสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง ทั้งนี้ การจัดทำถังขยะเปียกจะช่วยลดการปนเปื้อนระหว่างขยะเปียกและขยะแห้งที่ต้นทาง ส่งผลต่อการลดขยะที่จะนำเข้าสู่กระบวนการกลางทางและปลายทางต่อไป เป็นผลดีโดยตรงต่อการลดค่าใช้จ่ายของท้องถิ่นซึ่งต้องรับผิดชอบค่าบริหารจัดการขยะเป็นจำนวนมากอีกด้วย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 586/2565 วันที่ 2 ธ.ค. 2565