วันนี้ (27 ต.ค. 67) เวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ออกจากท่าวาสุกรีไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
โอกาสนี้ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นั่งในกัญญาเรือทองบ้าบิ่น ร่วมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเรือทองบ้าบิ่น หน้าที่เป็นเรือประตูหน้า หรือเรือสำหรับนำหน้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตัวเรือมีขนาดความยาว 32.08 เมตร กว้าง 1.88 เมตร ลึก 64 เซนติเมตร ใช้กำลังพล 43 คน ประกอบด้วย นายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน ฝีพาย 39 คน และคนให้สัญญาณ 1 คน
สำหรับรูปแบบขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ความยาวประมาณ 1,200 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,412 นาย สำหรับเรือพระที่นั่งสำคัญมี 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นเรือเชิญผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตามเสด็จในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งรอง ส่วนเรือในขบวนอีก 48 ลำ เป็นเรือรูปสัตว์แสนยากรตามราชประเพณี
การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางชลมารค” เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่ง โดยการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อกันมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ และประกอบในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1978/2567 วันที่ 27 ต.ค. 2567