เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่สภากาชาดไทย จัดงานกาชาดประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “9 ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี สดุดีสภานายิกาสภากาชาดไทย” ระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2565 ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยครบ 66 ปี โดยในการจัดงานดังกล่าว ได้เชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประกวดการออกแบบร้านภายในงานกาชาด โดยกำหนดหลักเกณฑ์ออกแบบตกแต่งร้าน ภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัย ใต้ร่มพระบารมี” และเป็นการจัดงานในรูปแบบ Green Fair ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุย่อยสลายหรือสามารถนำกลับไปใช้ซ้ำได้
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า ผลการประกวดร้านค้ากาชาด ประจำปี 2565 ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ปรากฏว่า ร้านสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยได้รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ออกแบบร้านกาชาด ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “๙ ทศวรรษ ๑๐ เรื่องราว ใต้ร่มพระบารมี สดุดีสภานายิกาสภากาชาดไทย” โดยมีพื้นที่รวม 894 ตารางเมตร ได้รังสรรค์ตกแต่งพื้นที่ให้มีความเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น สวยงาม และสร้างสรรค์ เน้นวัสดุตกแต่งจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้งานอารยสถาปัตย์เพื่อคนทุกกลุ่ม ทุกวัย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการหวงแหนและรักษาโลกใบเดียวนี้ให้คงอยู่ดังเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยเทคนิค 360 องศา ซึ่งผู้เยี่ยมชมจะสัมผัสได้ทั้งรูป กลิ่น เสียง เสมือนเข้ามาเดินเล่นในป่าท่ามกลางธรรมชาติและพรรณไม้นานาชนิด ได้มองท้องฟ้า แลเห็นยอดไม้ จนถึงเทคนิคผสมผสานกลิ่นดอกไม้ป่า พร้อมทั้งสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สินค้าจากศูนย์ศิลปาชีพที่สามารถจับต้องได้ สะท้อนพระราชกรณียกิจและเรื่องราวอันเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ได้แก่ 1) ความหมายของพระนามาภิไธย ส.ก. สะท้อนความหมายตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระแม่แห่งแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย 2) 66 ปี สดุดีสภานายิกาสภากาชาดไทย สะท้อนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ให้แก่ลูก ๆ พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ และได้แผ่ขยายสายธารพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าไปยังผู้ลี้ภัยที่มาพึ่งใบบุญพระบรมโพธิสมภารอย่างไพศาล 3) ศิลปาชีพ สร้างงาน สร้างอาชีพ สะท้อนแนวพระราชดำริในการทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อส่งเสริมอาชีพและธำรงรักษา อนุรักษ์งานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาหัตถศิลป์ หัตถกรรมของบรรพบุรุษ ทั้งการปั้น ทอ จักสาน จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก 4) โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ด้วยทรงส่งเสริมฟื้นฟูงานศิลปะการแสดงชั้นสูงของชาติ คือ “การแสดงโขน” ให้กลับคืนสู่สังคมไทย กระทั่งเกิดการแสดงโขนพระราชทาน หรือ โขนมูลนิธิศิลปาชีพอย่างต่อเนื่องซึ่งผลลัพธ์ที่สำคัญของแนวพระราชดำรินี้ ส่งผลให้เมื่อปี 2561 ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โขน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของมวลมนุษยชาติ 5) นานาองค์กรร่วมเฉลิมพระเกียรติคุณ ด้วยเพราะพระองค์ทรงเป็น “ผู้ให้” การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อพยพในหลายเหตุการณ์โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สภากาชาดไทยร่วมมือกับกาชาดสากลดำเนินการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมจนได้รับการถวายการสดุดีจากนานาประเทศ 6) ป่ารักน้ำ ดังพระราชดำรัส “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” สะท้อนพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงจนเสื่อมโทรมให้คืนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ 7) ทรงอนุรักษ์ป่าชายเลน โดยทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูปรับปรุงและพัฒนาป่าต้นน้ำและป่าชายเลน อันเป็นแหล่งกำเนิด แหล่งอาศัย และแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสรรพชีวิต ซึ่งเป็นฐานและต้นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 8) พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จากพระราช-กรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นคืนป่าไม้ของประเทศให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่ประจักษ์สายตาสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งได้รับการถวายพระนามเป็น “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” 9) ดอกไม้ในพระนามาภิไธยและดอกไม้พระราชทานนาม ด้วยทรงเป็นนักอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ จนเป็นที่ประจักษ์ได้รับการเทิดพระเกียรติคุณ อัญเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ไปตั้งเป็นชื่อดอกไม้ อันเป็นที่มาของบุปผาราชินี เพื่อเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ล้ำค่าของประเทศ และ 10) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆและไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ช่วยสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรพันธุ์พืชไทย และได้มีการน้อมนำพระราชดำริในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการส่งเสริมช่องทางการตลาด ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเลือกซื้อสินค้าได้จากผู้ผลิตได้โดยตรง อันจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับชุมชน โดยการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชน (OTOP) และจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับพี่น้องประชาชน ภายใต้ชื่อ “ร้านนายประหยัด” รวมทั้งมีบริการนวดเพื่อสุขภาพตามตำรับตำราแพทย์แผนไทยซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้กับประชาชนผู้สนใจอีกด้วย
ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ มีกิจกรรมเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เพลิดเพลิน ได้ร่วมสนุก ร่วมทำบุญ และลุ้นรับของรางวัล ได้แก่ 1) การจำหน่าย “สลากบำรุงสภากาชาดไทย” ประจำปี 2565 ลุ้นชิงรางวัล 51 รายการ มูลค่ารวม 3,328,500 บาท ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 ทองคำแท่งหนัก 20 บาท 1 รางวัล รางวัลที่ 2 สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท 10 รางวัล และรางวัลที่ 3 สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 40 รางวัล โดยจะออกรางวัลในวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค. 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และประกาศรายชื่อผู้โชคดีทางเว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย www.moi.go.th ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 ธ.ค. 2565 2) กิจกรรม “จับผีเสื้อแห่งความจงรักภักดี” ที่ต้นราชพฤกษ์พระราชา และต้นโมกพระราชินี ซึ่งได้ออกแบบจำลองโดยใช้ไม้ไผ่จากวิสาหกิจชุมชน (ลานไม้ไผ่บ้านดงบัง – วงศ์ไผ่ปราจีนบุรี) ผลิตภัณฑ์และงานฝีมือจักสานจากศูนย์การเรียนรู้งอบไทยใบลาน และศูนย์ OTOP ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการส่งเสริมหัตถกรรม หัตถศิลป์ เครื่องจักสาน ตามแนวพระราชดำริขององค์สภานายิกาสภากาชาดไทย และมีเทคนิคการตกแต่งสไตล์ Gardens by the bay ในประเทศสิงคโปร์ และที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจไปกว่านั้น คือ ที่ต้นราชพฤกษ์พระราชา และต้นโมกพระราชินี จะมี “ผีเสื้อแห่งความจงรักภักดี” ถูกประดับตกแต่งรวมจำนวนกว่า 50,000 ตัว ที่ทุกตัวล้วนประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์ของ 76 จังหวัดจำลองถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศด้วยน้ำพระทัยและพระบารมี ทั้งนี้ เมื่อพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรมจับผีเสื้อเพื่อลุ้นของรางวัลแล้ว ยังได้รับผีเสื้อกลับไปเป็นของที่ระลึกนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ อันเป็นการร่วมสืบสานพระราชปณิธานในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษให้ได้รับการสืบทอดเป็นอาชีพที่มั่นคงให้กับช่างทอผ้าทั่วประเทศ และ 3) การออกร้าน “ร้านเสื้อผ้าไทยมือใหม่และมือสองราคาสุดพิเศษ” จำหน่ายผ้าไทยทั้งชุดใหม่ และชุดมือสองสภาพดี ในราคาสุดพิเศษ จำนวนจำกัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจด้วยการสวมใส่ชุดผ้าไทย หลายรูปแบบ หลากดีไซน์ เพื่อร่วมสนองพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อันทำให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้า ได้พัฒนาทักษะ ฝีไม้ลายมือ ด้านการทอผ้า การออกแบบผ้า ให้สอดคล้องกับความต้องการและความนิยมชมชอบของผู้ซื้อ คนทุกวัยใส่ได้ และยังสามารถใส่ได้ทุกโอกาส ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถเลือกสรรชุดผ้าไทย และสินค้าอื่น ๆ ที่ชื่นชอบ ให้กับตนเอง หรือเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ที่เคารพนับถือและบุคคลที่เรารักในช่วงเทศกาลแห่งความสุขได้อีกด้วย
“ประการสำคัญที่สุดในการออกร้านกาชาดกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในครั้งนี้ คือ เงินทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายอย่างใดทั้งสิ้น จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อบำรุงสภากาชาดไทย สำหรับช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ประสบภัยพิบัติตามภารกิจของสภากาชาดไทย อันมีนัยยะที่สำคัญว่า ทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรมร้านกาชาดกับกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะได้ร่วมกันทำบุญด้วยการ “ให้” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรมร้านกาชาดกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในงานกาชาดประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 8–18 ธันวาคม 2565 เวลา 11.00–22.00 น. รวม 11 วัน 11 คืน ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานค” ดร.วันดีฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 607/2565 วันที่ 8 ธ.ค. 2565