วันนี้ (13 ธ.ค. 65) เวลา 11.00 น. ที่บริเวณหน้าห้องเพลนารีฮออล์ ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ นางพิจิตรา บุณยรัตพันธ์ และนางบุษกร วงศ์พัวพันธ์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) โดยมี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นางรติรส จุลชาต ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ THEATRE นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการนิตยสาร VOGUE Thailand นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) เป็นการร้อยรวมพลังทุกภาคส่วนเพื่อจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้ทรงชุบชีวิตเส้นไหม เส้นฝ้าย ให้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตรับใช้พี่น้องคนไทยให้มีเงินรายได้ มีคุณภาพชีวิต เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานที่ดีได้ก่อนที่จะหมดสิ้นลมหายใจไป โดยมีเจ้าฟ้าหญิงผู้ทรงมีพระกตเวทิตาคุณอย่างสูงยิ่งต่อสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้ผืนผ้าไทยหลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิม ๆ กรอบความคิดโบร่ำโบราณที่ว่า ผ้าไทยเชย ผ้าไทยไม่ทันสมัย ด้วยการพระราชทานแนวทาง แนวคิด ทั้งด้านการออกแบบผืนผ้า โดยใช้สีแพนโทน ให้มีเฉดสีต่าง ๆ การใช้สีธรรมชาติแทนการใช้สีเคมี รวมถึงช่องทางการตลาด ความนิยมชมชอบของตลาดผู้บริโภค แฟชั่นนิยมของโลก เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่างทอผ้า ผู้ประกวดผ้า และทุกส่วนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับผืนผ้าไทย ได้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถดูแลเลี้ยงดูตนเอง เลี้ยงดูลูกหลานให้มีเงินได้เรียนหนังสือ มีเงินทองใช้จ่ายในครัวเรือน อันจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“ตนรู้สึกเป็นเกียรติและมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดงานครั้งนี้ เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชชนพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงเป็นหลักชัยในการนำผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์ของพื้นที่ มาสร้างเป็นงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ทำให้ประชาชนคนไทยสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น นับเป็นโชคดีของคนไทยทุกคนที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงซึมซับพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ท่านตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงมีพระปณิธานที่แน่วแน่ มั่นคง มุ่งมั่น ในการรักษา ต่อยอด พัฒนางานด้านศิลปกรรมและผ้าไทย ดังที่สมเด็จย่าของพระองค์ได้ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงทรงมีพระดำริในการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ผ้าไทย งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทยให้ได้เป็นที่รู้จักสู่สากล ด้วยการนำวิทยาการสมัยใหม่มาปรับใช้กับการผลิต ความรู้การตลาดในการสร้างมูลค่า การสร้างเฉดสีของผ้าไหม การจัดให้มีการแข่งขันลายผ้าไหมไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส จึงพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อ “พัฒนาคน” ให้ “คนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์” ด้วยการพระราชทานลายผ้าพระราชทาน ทั้งลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และลวดลายต่าง ๆ โดยทรงเน้นย้ำว่า การออกแบบลวดลายใหม่ ๆ เป็นการต่อยอดจากลวดลายของบรรพบุรุษ ไม่ละทิ้งภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย แต่ต้องพัฒนาทั้งการลดขนาด สลับด้าน ทำให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ดังที่บ้านดอนกอย อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ที่ก่อนหน้านี้มีรายได้เพียงเดือนละ 700 บาท/คน หลังจากได้รับพระกรุณาธิคุณ มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 14,000 บาท/คน และถึงทุกวันนี้ มียอดการสั่งจองผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยไม่ขาดสาย สั่งจองยากมาก นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระดำริว่า ลายผ้าไทยไม่จำเป็นต้องอยู่แค่บนผ้าไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถไปอยู่บนผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของทุกชนิดได้ อันจะส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพัฒนาต่อยอด สร้างงาน สร้างรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้น เพราะพระองค์ท่านทรงปรารถนาที่จะเห็นพสกนิกรของพระองค์ ได้มีรายได้จากงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมจากชุมชนของตนเอง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ไม่มีพระราชินีพระองค์ไหนในโลกที่จะทรงงานอย่างหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์ เฉกเช่นที่ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ทรงทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยดีขึ้นถึงทุกวันนี้ ซึ่งนับเป็นความโชคดีของพวกเราซึ่งเป็นพสกนิกรคนไทยของพระองค์ท่านทุกคน ที่ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านทรงรื้อฟื้นผ้าไทยที่หายไปจากแผ่นดินไทยให้กลับคืนสู่ชีวิตของคนไทยและสังคมไทย ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ สายธารแห่งพระบารมีนี้ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับเป็นพระราชภาระของพระองค์ท่านในการทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิต ให้กลับมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการพระราชทานคำแนะนำ และสอนให้ประชาชนได้รู้จักผ้าไทยในแบบที่ไม่เหมือนในอดีต ทั้งการนำมาปรับปรุง แก้ไข ในด้านเฉดสี จากสีเข้มทำให้อ่อนลง เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ได้มากขึ้น สามารถใส่ผ้าไทยได้ทุกโอกาส การนำลายที่ใหญ่เกินไปมาย่อให้เล็กลง ทำให้ละเอียดและอ่อนช้อยมากยิ่งขึ้น เป็นลายที่สวยงาม ทำให้เราได้รู้จักผ้าไทยถึงทุกวันนี้ ทำให้ผ้าไทยไม่สูญหาย ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นชาติ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมความเป็นไทย
“เพื่อเป็นการร่วมกันแสดงออกซึ่งความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) ในระหว่างวันที่ 15, 16 และ 18 ธันวาคม 2565 ที่หน้าห้องเพลนารีฮอลล์ 1-3 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่ซึ่งได้รับพระราชทานบรมราชานุญาตให้นำพระนาม เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน และเป็นการแสดงผลงานที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการพัฒนาผ้าไทย อันจะเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี 2565 จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันเที่ยวชมงาน มาให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าไทยจากทุกภูมิภาคของประเทศ แล้วท่านจะได้เห็นว่าผ้าไทยใส่แล้วสนุกจริงๆ ผ้าไทยสามารถตัดเย็บได้ทุกแบบ สามารถขยายผลเป็นชุดที่มีหลากสีสันได้ และประการสำคัญ มาเป็นกำลังใจ กระตุ้นภาคการผลิต ทำให้ช่างทอผ้าได้พัฒนาตนเอง พัฒนาฝีมือการทอผ้า เพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่เพิ่มพูน ครอบครัวและลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าว
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 นับเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านการประกวดผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งมีชิ้นงานส่งเข้าประกวด ประเภทผ้า 2,946 ผืน งานหัตถกรรม จำนวน 298 ชิ้น และผ่านเข้ารอบตัดสินระดับประเทศ ประเภทผ้า 61 ผืน และงานหัตถกรรม 10 ชิ้น นอกจากนี้เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.65) ได้มีการจัดประกวดงานหัตถกิจหัตถกรรมของคนรุ่นใหม่ (Young OTOP) ซึ่งเป็นทายาท เป็นลูกหลาน ของช่างทอผ้า ของผู้ประกอบการ เป็นต้นกล้าที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับผ้าไทยในอนาคต โดยได้คัดเลือกสุดยอดผลงานของเหล่าบรรดาต้นกล้าเหล่านี้ได้รับรางวัล จำนวน 5 รางวัลจาก 107 คน ซึ่งทุกท่านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดผลงาน จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) ในวันที่ 17 ธันวาคม 2565 นี้
ในช่วงท้าย นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ นางพิจิตรา บุณยรัตพันธ์ และนางบุษกร วงศ์พัวพันธ์ ได้ร่วมบอกเล่าสะท้อนถึงโอกาสดีของชีวิตในการถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างมากมายอย่างอเนกอนันต์ โดยเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักในต่างจังหวัด จะทรงงานมืดค่ำดึกดื่น และทอดพระเนตรดูชิ้นงาน ผลงานของประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายรายงานที่ตนได้ทำการบ้านหลังจากได้รับพระราชทานพระราชวินิจฉัย ทรงดูอย่างละเอียด และจะพระราชทานพระดำริด้านต่าง ๆ โดยจากการถวายงานที่ผ่านมาในด้านการออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ ทำให้ได้ทราบว่า พระองค์ท่านจะทรงโปรดผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา หมี่ขอ ขิดไหม ลูกแก้ว และสีธรรมชาติ ซึ่งพระองค์พระราชทานให้มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้แสดงฝีไม้ลายมือและแข่งขันนำเสนอผลงานผ้าไทยที่มีความสวยงามที่สุด อันเป็นกุศโลบายที่ทำให้พวกเขาได้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และเป็นโชคดีของตนที่ได้ถวายงานแด่พระองค์ท่าน
ด้านนายกุลวิทย์ เลาสุขศรี และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ เผยว่า นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดแฟชั่นโชว์ผลงาน 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ SIRIVANNAVARI Couture, KAI, TIRAPAN, PICHITA, PISIT, THEATRE, ASAVA, ISSUE, VATIT ITTHI และ WISHARAWISH รังสรรค์ผลงานสุดประณีตที่ได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยนำผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค มาตัดเย็บเป็นชุดที่มีดีไซน์ทันสมัย อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก สะท้อนมุมมองของผ้าไทยในอีกมิติหนึ่ง และเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า “ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้หลงใหลในงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ผืนผ้าไหม ผืนผ้าไทยทุกท่าน ร่วมเที่ยวชมงาน “เทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022)” ระหว่างวันที่ 15, 16 และ 18 ธันวาคม 2565 ณ บริเวณหน้าเพลนารีฮอลล์ 1-3 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งทุกท่านจะได้พบกับผลงานสุดยอดผ้าทอ และยังได้เลือกซื้อเลือกหาผ้าไหมไทย ทั้งผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี และผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา รวมถึงผลงานหัตถกรรมจากลวดลายพระราชทาน และผลงานจากศิลปินโอทอป เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนทั่วประเทศ อันจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน”
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 622/2565 วันที่ 13 ธ.ค. 65