นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร โดย “บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ ราษฎรบ้านหนองแข้” เป็นหนึ่งในบรรดาบ้านเรือนราษฎรหลายร้อยหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จเยือนโดยไม่มีกำหนดการล่วงหน้าและทรงเยี่ยมถึง 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2523 และพ.ศ. 2525 โดยทรงถามไถ่ทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด และทรงฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมืองของไทยและการทอผ้า โดยทรงรับราษฎรบ้านหนองแข้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ เพื่อให้มีรายได้เสริมจากการทอผ้า รวมทั้งพระราชทานฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ให้นางไท้ แสงวงค์ ไว้เป็นต้นแบบอนุรักษ์ลวดลายโบราณ ซึ่งด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และราษฎรบ้านหนองแข้จึงร่วมกันจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป่าไท้” ขึ้น เพื่อสืบทอดความภาคภูมิใจ ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และความทรงจำอันงดงามให้คงอยู่เป็นสมบัติของลูกหลานชาวบ้านหนองแข้สืบไป
“นับตั้งแต่พุทธศักราช 2515 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ราชเลขานุการในพระองค์ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านและชวนให้ทอผ้า เพื่อทรงรับซื้อ ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำนาทำไร่ โดยเมื่อวันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนร่มเกล้า ต.ตองโขบ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร โดยทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่มารอเฝ้าฯ รับเสด็จอยู่และมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทอดพระเนตรเห็นความสวยงามของผ้าซิ่นที่นางทุ้มและนางไท้ สองพี่น้องชาวบ้านหนองแข้สวมใส่ จึงเป็นที่มาของการเสด็จพระราชดำเนินถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 11 พฤศจิกายน 2521 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชาวบ้านหนองแข้และทอดพระเนตรการทำงานของกลุ่มสมาชิกทอผ้า โดยไม่มีใครทราบมาก่อน แต่เมื่อทราบข่าว ชาวบ้านต่างพร้อมใจกันละจากงานที่ตนกำลังทำอยู่ มาเฝ้าฯ รับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น โดยในครั้งนี้ ได้ประทับที่บ้านนางไท้ แสงวงค์ พร้อมทั้งมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวนางไท้เป็นการส่วนพระองค์ จากนั้น จึงทอดพระเนตรการแสดงเป่าแคนที่ชาวบ้านจัดถวายแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ ครั้งที่ 2 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2523 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทอดพระเนตรพื้นที่โดยรอบของบ้านหนองแข้ เพื่อหาวิธีพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก ในขณะเดียวกัน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภายในหมู่บ้าน เสด็จฯ ไปประทับ ณ บ้านของนางไท้ แสงวงค์ และทรงพระราชปฏิสันถารเกี่ยวกับการอนุรักษ์การทอผ้า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับนางทุ้มและนางไท้ และครั้งที่ 3 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2525 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานฉลองพระองค์คลุมไหมมัดหมี่สีม่วงให้แก่นางไท้ เพื่อเป็นแบบในการทอผ้าผืนใหม่ ซึ่งภายหลังนางไท้ได้เชิญฉลองพระองค์นั้นไว้บนหิ้งและบูชาด้วยดอกไม้สีขาว เช่น ดอกสะเลเต (มหาหงส์) ตามประเพณีชาวอีสาน ด้วยความผูกพันและจงรักภักดี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระปณิธานที่แน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านศิลปาชีพที่พระองค์ท่านได้โดยเสด็จตามสมเด็จย่าของพระองค์เยี่ยมเยียนราษฎรและทรงเรียนรู้ซึมซับพระราชกรณียกิจมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในทั่วทุกภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ทำให้ทรงรับรู้ความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน และทรงรับงานศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาเป็นพระราชภาระเพื่อทรงสืบสานพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งนี้
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำประสบการณ์ส่วนพระองค์ทั้งจากการทรงงานและทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมืองมาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัยจึงทรงนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงาม สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับช่างทอผ้าทุกท้องถิ่น ท้องที่ ผ่านโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และพระราชทานลายผ้า เช่น ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ ลายขิดนารีรัตน์ราชกัญญา ลายท้องทะเลไทย ลายป่าแดนใต้ เป็นต้น” ดร.วันดี กล่าวฯ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสด็จทรงงานในพื้นที่จังหวัดสกลนครของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในครั้งนี้ เป็นการเสด็จตามรอยพระบาทยาตรา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งพระราชทานพระดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาการถักทอผ้า อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เพื่อทำให้ภูมิปัญญาผ้าไทยเหล่านี้ได้รับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้พี่น้องประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง เพิ่มพูน อันจะนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ เป็นสถานที่แห่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่เป็นหนึ่งในบ้านราษฎรหลายร้อยหลังในประเทศไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียน ด้วยสำนึกในพระมหากรณาธิคุณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับราษฎรบ้านหนองแข้ จึงจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้” นี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นที่จดจำและเป็นสมบัติแก่ลูกหลานบ้านหนองแข้ และประชาชนชาวไทยสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย