เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 66 นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยและพี่น้องประชาชนคนไทย ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งภายหลังจากการประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว จังหวัดพะเยาได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการระดมและจับมือสร้าง Partnership ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ข้อที่ 17 เพื่อจัดทำข้อมูล Big Data ภูมิศาสตร์และภูมิสังคมของพื้นที่
“อำเภอแม่ใจ ได้จัดให้มีการประชุมจัดทำข้อมูล Big Data ภูมิศาสตร์และภูมิสังคมของหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอแม่ใจ โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิติ เอี่ยมชื่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิศักดิ์ ปิ่นมงคลกุล คณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย พิมลศรี คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม ดร.ขวัญสิรินภา ธนะวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยส่วนราชการของอำเภอแม่ใจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนโครงการรวมพลังแผ่นดิน “แม่ใจ รักษ์ดิน” Road to World Soil Day กิจกรรมจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบสารสนเทศ Big Data ภูมิศาสตร์และภูมิสังคมของแต่ละหมู่บ้านสู่ภาพรวมของอำเภอแม่ใจ โดยเริ่มต้นด้วยการประมวลข้อมูลหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่สุก เป็นต้นแบบในการศึกษาขอบเขตลุ่มน้ำแม่สุก ในเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยระบบอัจฉริยะ (Smart Water Solution) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งซ้ำซากทางการเกษตร ลุ่มน้ำอิงตอนบน จังหวัดพะเยา” ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำขอบเขตลุ่มน้ำในทุกตำบล” นายอำเภอแม่ใจ กล่าว
นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำ Big Data ภูมิศาสตร์และภูมิสังคมหมู่บ้านนี้ จะทำให้อำเภอแม่ใจและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นรากฐานในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยการน้อมนำหลักทรงงาน “การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการขับเคลื่อน โดยทรงให้หลักการไว้ว่า การจะทำโครงการหรืองานใดนั้น “ต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบจากข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน” ซึ่งทางอำเภอแม่ใจได้นำหลักการทรงงานนี้ เป็นหัวใจ เป็นหลักการสำคัญในการดำเนินโครงการตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย เพื่อการพัฒนาที่ยังยืนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 249/2566 วันที่ 15 มี.ค. 2566