วันที่ 18 มี.ค. 66 เวลา 14.00 น. ที่โรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายไชยพร นิยมแก้ว ปลัดจังหวัดปัตตานี นายมนัส หนูรักษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปัตตานี พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี นายอรรณพ คณานุรักษ์ ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี นายอำเภอโคกโพธิ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายกูเฮง สาอิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกตุ สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย กว่า 100 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ดีใจที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่านักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้อาวุโส เป็นที่พึ่งพิง เป็นที่พึ่งพา ของลูก ๆ หลาน ๆ ทั้งเป็นญาติผู้ใหญ่ทั้งในบ้าน ในครอบครัว และในชุมชน จึงขอให้ทุกท่านได้ช่วยเป็นหลักชัยของลูกหลานในการดูแลครอบครัว ชุมชนที่อยู่บริเวณในหมู่บ้านเดียวกัน ดังหลักการสำคัญที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท่านปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล และพนักงานส่วนตำบล ได้มาช่วยขับเคลื่อนทำงานร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่าน อันสอดคล้องกับ หลักการที่เราเรียกว่า “หมู่บ้านยั่งยืน หรือ Sustainable Village” อันเป็นหมู่บ้านที่ทุกคนมีความรัก ความสามัคคี ซึ่งความรักความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย นักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ทุกท่าน ช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการที่จะชวนให้ลูกหลานในหมู่บ้าน ได้รู้จักดูแลครอบครัว ทำงานร่วมกันในหมู่บ้านชุมชน ในลักษณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า “จิตอาสาพระราชทาน” ซึ่งคำว่าจิตอาสานั้น คือการทำความดีทุกเรื่องโดยไม่หวังผลตอบแทน
“ตั้งแต่เรื่องในบ้านของตนเอง เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องน้ำ ต้องสะอาดเรียบร้อย ลงไปถึงใต้ถุนบ้านโดยรอบบ้านต้องสะอาด มีถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบ 100% และต้องรู้จักการคัดแยกขยะ และ อบต.นาเกตุแห่งนี้ ก็ได้มีการนำขยะพลาสติกมาทำไม้กวาดสร้างรายได้ ขยะเปียกหมักทำปุ๋ยหมักให้ย่อยสลาย โดยขอเน้นย้ำทุกท่านถึงวิธีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนว่า ต้องทำให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถัง สามารถใช้ถังพลาสติกใบเก่า เช่น ถังสี ถังน้ำเก่า ๆ แต่ต้องมีฝาปิด มาตัดก้นของถัง แล้วขุดหลุมเป็นรูปลิ่ม ให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถัง แล้ววางถังพร้อมฝาปิดลงไปบนหลุม เพื่อจะได้เกิดกระบวนการย่อยสลาย และปุ๋ยหมักเหล่านั้นจะกลายเป็นสารบำรุงดินชั้นดี นอกจากนี้ ต้องช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องความประหยัดแล้ว ยังจะปลอดภัย เพราะเราปลูกในพื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง เกิดการเพิ่มพูนความรัก ความสามัคคีในครอบครัวและในหมู่บ้าน เพราะในครอบครัวได้ช่วยกันทำกิจกรรมถอนหญ้า พรวนดิน รดน้ำปลูกผัก และยังสามารถทำให้เกิดความรักความสามัคคีในตำบล/หมู่บ้าน เพราะผลผลิตที่ได้มานั้นก็นำมาแบ่งปัน ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ททมาโน ปิโย โหติ แปลว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก เพราะการเป็นผู้ให้ คือ การเป็นผู้เสียสละ แบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่ผู้อื่น เมื่อให้แล้ว ผู้รับมีความสุข และให้ความรักกับผู้ให้นั่นเอง” ปลัด มท. กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ทุกท่านได้ชวนกันไปพัฒนาทำความสะอาด ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ล้มลุกต่าง ๆ ทำให้เกิดความสวยงาม ความรักในหมู่บ้านก็จะเกิดขึ้น ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ โดยเลี้ยงจำนวนที่เกินกว่าจำนวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้มีไข่ไก่ไว้เป็นอาหารเพียงพอกับคนในครอบครัว ในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานคำสอนไว้ให้กับพวกเรา นั่นคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ เราต้อง “พึ่งพาตนเอง” เราต้อง “ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงบนพื้นฐานความจำเป็นขั้นพื้นฐาน” ดังที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพยายามส่งเสริมโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนตชด. โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ได้ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงจิ้งหรีด อันเป็นกุศโลบายให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และส่งเสริมขยายผลไปยังพ่อ แม่ ครอบครัว เพราะปัจจัย 4 นั้น “อาหารถือเป็นเรื่องแรกที่มีความสำคัญมาก” จึงฝากพวกเราได้ทำเป็นตัวอย่างและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในหมู่บ้านของเรา เพื่อให้คนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ดร.ประภัสสร ขวัญกะโผะ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกตุ (อบต.นาเกตุ) กล่าวว่า อบต.นาเกตุ มีการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมสีเขียวเพื่อความยั่งยืน ผ่านกระบวนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การส่งเสริมการผลิตแก๊สอินทรีย์จากมูลวัว เพื่อใช้เป็นแก๊สหุงต้มทำอาหารในครัวเรือนพื้นที่บ้านหัวควน หมู่ที่ 6 ตำบลนาเกตุ เป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตรและอาหาร ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อแก๊สหุงต้ม เดือนละ 390 บาท/ครัวเรือน 2) การเลี้ยงไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์ โดยขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเลี้ยงไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์เป็นทางเลือกในการทำปุ๋ยชีวภาพจากขยะอินทรีย์ นำไปสู่การปลูกผักปลอดสารพิษในชุมชน โดยใช้หลักการ “ให้ขยะอินทรีย์เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช ให้พืชเลี้ยงคน” ส่งเสริมการทำปุ๋ยดินปลูกมูลไส้เดือนดินจำหน่าย ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “ราชาง้วนดิน อบต.นาเกตุ” สร้างรายได้ให้กลุ่มเลี้ยงไส้เดือนดินเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เป็นต้น อันเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตรและอาหาร ประชาชนนำปุ๋ยดินปลูกมูลไส้เดือนดินไปปลูกผักปลอดสารพิษเป็นอาหารในครัวเรือน เหลือกินแบ่งปันเพื่อนบ้าน เหลือจากแบ่งปันนำไปจำหน่ายในหลาด สว.นาเกตุ 3) นำระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อทำการเกษตร โดยนักเรียนโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ ได้ทำโครงการขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ ขนาด 3 กิโลวัตต์ จากสำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี กระทรวงพลังงาน ภายใต้โครงการพัฒนาประสิทธิผลการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ตามแผนพลังงานเชิงพื้นที่ ปีงบประมาณ 2563 นำมาติดตั้งริมคลองชลประทาน เพื่อใช้ในการส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรของประชาชน และนักเรียนโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ ปัจจุบัน เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการศึกษาดูงานของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานราชการอื่น ปัจจุบันประชาชนและนักเรียนโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ มีรายได้จากการปลูกผักโดยใช้น้ำจากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 28 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้นักเรียนผู้สูงอายุครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 350 บาทต่อวัน ลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำมันสำหรับสูบน้ำ เดือนละ 1,200 บาท 4) การนำขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นไม้กวาด เพื่อการบริหารจัดการขยะในชุมชน โดยการนำขยะพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นไม้กวาดพื้น ไม้กวาดหยากไย่ ไม้กวาดใบใม้ สามารถลดปริมาณขยะประเภทขวดพลาสติกและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 17 ครัวเรือน มีรายได้เสริมเป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 800 บาท 5) การบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ แหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ปลูกต้นขี้เหล็ก ต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นสะตอ ต้นมะม่วง เป็นต้น ที่เป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร รักษาสิ่งแวดล้อม ทำฝายชะลอน้ำ เพื่อบำรุงรักษาอนุรักษ์แหล่งน้ำในชุมชน
“ผลลัพธ์จากการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อบต.นาเกตุ ทำให้เกิด “หลาด สว.นาเกตุ” โรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ จัดตั้ง “หลาด สว.นาเกตุ” ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้แก่นักเรียนโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกต ซึ่งได้รวมตัวกันปลูกผักปลอดสารพิษตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการขับเคลื่อนมาจากการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง สู่การปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภคในครัวเรือน เหลือแบ่งปันเพื่อนบ้าน ด้วยผลผลิตที่มีมาก ทำให้นักเรียนโรงเรียนสูงวัยทักษิณานาเกตุ มีความต้องการให้จัดตลาดขึ้นในชุมชนโดยใช้ชื่อว่า “หลาด สว. นาเกตุ” ปัจจุบัน รับฝากผลผลิตทางการเกษตรกับประชาชนในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือทางสังคมแก่ชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากการเปิดหลาด สว.นาเกตุ มีรายได้ทั้งสิ้น 2,475,627 บาท โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ จากประซาชนที่ฝากขายสินค้าทางการเกษตรของชุมชน ประชาชนช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันในสถานการณ์ภาวะวิกฤตของสังคม” ปลัด อบต.นาเกตุ กล่าวเพิ่มเติม
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 263/2566 วันที่ 18 มี.ค. 2566