วันนี้ (18 มี.ค. 66) เวลา 10.00 น. ที่สนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566 ของจังหวัดปัตตานี โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายไชยพร นิยมแก้ว ปลัดจังหวัดปัตตานี นายมนัส หนูรักษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปัตตานี นายอรรณพ คณานุรักษ์ ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย กว่า 1,000 คน ร่วมในพิธีเปิด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมในความสามัคคีของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถสร้างสรรค์กิจกรรม ร่วมกันแสดงออก ทั้งการแต่งกาย การแสดงสวย ๆ งาม ๆ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นคนปัตตานี ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองในอดีต ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดถึงปัจจุบันนี้ และหวังว่าความรักความสามัคคีที่พวกเรามีกันอยู่นี้ จะทำให้ทุกท่าน ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก ช่วยนำพาจังหวัดปัตตานีของเราให้มีความเจริญรุ่งเรือง ทำให้ผู้คนมีความสุขอย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติของเรา ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสมดังที่องค์พระผู้ก่อกำเนิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมีพระบรมราชโองการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาล่วงมาแล้ว 118 ปี
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกที่สำคัญที่ช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเจริญกับประเทศชาติ ประชาชนจะมีความสุข ชุมชนหมู่บ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสงบสุข มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ขึ้นอยู่กับท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกคนที่จะต้อง หลอมรวมพลังความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในหน่วยงาน ภายในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน รวมกันแล้วก็คือ ภายในจังหวัดปัตตานีของเรา และขอเป็นกำลังใจให้พี่ ๆ น้อง ๆ ท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านผู้บริหารของจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมมือกันในการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานีของพวกเราอย่างยั่งยืนตลอดไป” ปลัด มท. กล่าวเพิ่มเติม
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ 115 ตำบล 645 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 727,686 คน นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 87 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 12 และศาสนาอื่น ๆ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งอารยธรรมมายาวนาน เป็นศูนย์กลางการปกครองบนคาบสมุทรมาลายู หรือที่รู้จักกันในนามอาณาจักรลังกาสุกะ ที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกทรายขาว หาดตะโล๊ะกาโปร์ หาดแฆแฆ มีสถานที่สำคัญทางศาสนาเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้แก่ วัดราษฎร์บูรณะ หรือวัดช้างให้ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกรือเซะ รวมทั้งมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีซึ่งมีความสวยงาม โดดเด่นทางสถาปัตยกรรม เป็นศูนย์กลางการประกอบศาสนกิจของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และค้าขาย ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรัก ความสามัคคี อาศัยอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ดังคำขวัญจังหวัดปัตตานีที่ว่า “เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้”
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันท้องถิ่นไทย” เพื่อรำลึกถึงความกรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2448 ถือเป็นปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย และเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น และทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด
“การจัดกิจกรรมวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566 ของจังหวัดปัตตานีในครั้งนี้ หน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การจัดบูธแสดงผลงาน “ของดีแต่ละอำเภอ” การจัดขบวนพาเหรดโชว์วิถีชีวิตของประชาชนแต่ละอำเภอ การร่ายรำบทเพลงรำวงมหาดไทย การแข่งขันกีฬาฟุตบอลชาย การแข่งวอลเลย์บอลหญิง และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เพื่อเสริมสร้างพลังความรักสามัคคี ของผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดปัตตานี ในการเป็นกำลังสำคัญที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดปัตตานีให้เป็นสังคมแห่งความสุขตลอดไป” นายก อบจ.ปัตตานี กล่าวเพิ่มเติม
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมบูธการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนโดย QAiMt Medel ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี บูธการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบางโกระ ซึ่งได้ขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นไทย กิจกรรมหนูน้อยปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการปลูกผักบุ้งในน้ำและการเพาะถั่วงอก โครงการห่วงใยไวจิ๋ว รณรงค์สวมหมวกนิรภัยขณะเดินทาง การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งเสริมการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข บูธการบริหารจัดการขยะ และการส่งเสริมปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ และร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนของ 12 อำเภอในพื้นที่จังหวัดปัตตานี อาทิ ปลากุเลาเค็มสูตรเกลือหวานปัตตานี บ้านอานีตา โดยกลุ่มแปรรูปปลากุเลาปากบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นปลากุเลาเค็มจากแหล่งวัตถุดิบ 3 น้ำจากทะเลปัตตานี เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผักปลอดสารพิษและน้ำมันหม่อง 3 บุรุษและพิมเสนน้ำ 3 บุรุษ กลุ่มอาชีพเทศบาลตำบลบ่อทอง และบริการนวดภูมิปัญญากลุ่มคนพิการเทศบาลตำบลบ่อทอง น้ำตาลโตนด เมี่ยงคำสมุนไพร ข้าวเกรียบปลา ข้าวเกรียบปลาเส้น ขนมผูกโบว์ ข้าวพอง กล้วยกรอบแก้ว อำเภอยะหริ่ง ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์บล็อกไม้ ผลงานหม้อปั้นดินเผากูบังบาเดาะ ตำบลสะกำอำเภอมายอ กลุ่มทอผ้าบ้านตรัง อำเภอมายอ ผ้าทอจวนตานีจากเส้นไหมใยธรรมชาติ ข้าวมะจานูบูดน ปลาส้มน้ำดำทุ่งยางแดง ขนมโรตีกรอบสูตรโบราณ ขนมทองพับ แตงโมทุ่งยางแดง ลูกหยีสามรส กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอุแตบือราแง อำเภอกะพ้อ ปลาหวานโรยงาปะนาเระ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีปะนาเระ ปลาส้ม ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกข 79 และข้าวลุงนิล ข้าวเล็บนกปัตตานี จาก 33 – 35 สายพันธุ์ กลุ่มผู้ผลิตข้าวตำบลคอกกระบือ น้ำผึ้งชันโรง กลุ่มการเลี้ยงและการจัดการชันโรง ตาลโตนด ชุมชนบ้านทุ่ง จักสานไม้ไผ่และต้นคล้า ข้าวเมาะโน๊ะ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองชุมชนบ้านทุ่ง น้ำบูดู ข้าวยำสูตรต่าง ๆ อำเภอสายบุรี ยาริงบาติก อำเภอยะหริ่ง ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นแบรนด์ gaya รายะรังอารยะ ลายยือแรมหานที ลายดงระแว้ง และลายเมาะมาวีพิสุทธ์ อำเภอยะรัง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 262/2566 วันที่ 18 มี.ค. 2566