วันนี้ (19 มี.ค. 66) เวลา 06.45 น. ที่ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด จัดกิจกรรม “ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด พาเติมบุญ” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ภาคีเครือข่าย และพุทธศาสนิกชนชาวร้อยเอ็ด ร่วมทำบุญตักบาตรวันอาทิตย์นอกเทศกาลเข้าพรรษา ทั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระมหาอุดร ธมฺมปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดบ้านอ้น เจ้าคณะอำเภอโพนทราย เป็นประธานสงฆ์ และมีคณะสงฆ์จากวัดบูรพารามออกรับบิณฑบาต
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า กิจกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการเชิญชวนให้ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เด็กและเยาวชน ที่มีวันหยุดในวันอาทิตย์ ได้ใช้วันหยุดนี้ออกมาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกันกับครอบครัว และเพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณธรรม ปลูกจิตสำนึกค่านิยมสุจริตให้แก่บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ได้นำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม จรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมดีมีคุณธรรมจริยธรรม และท้ายสุดเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อให้ทรงหายจากอาการพระประชวร ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์และแข็งแรงในเร็ววัน
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมฯ ในวันนี้เชื่อมั่นว่าจะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม ได้รับการพัฒนาจิตใจ มีคุณธรรม จริยธรรม สอดคล้องตามหลักตามค่านิยม 11 ประการของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด และหลักการเรื่อง “บวร” ที่มีที่มาจากแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนโดยอาศัย 3 สถาบันหลักของสังคมไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน ประกอบด้วย 1) บ คือ สถาบัน ครอบครัวหรือบ้าน 2) ว คือ สถาบันศาสนา หรือ วัด ศูนย์กลางทางจิตใจในชุมชน และรวมถึงศาสนสถาน ของศาสนาต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย และ 3) ร คือสถานที่ให้ความรู้อย่างมีแบบแผน เช่นโรงเรียน ศูนย์ฝึกอบรบ ศูนย์การเรียนรู้ เรียกโดยย่อว่า “บวร” และสิ่งที่พบเห็นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วน ต่างพร้อมใจกันสวมใส่ชุดผ้าไทย อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญา รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรณรงค์ความผูกพันและภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งนอกเหนือจากการภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์ของพวกเราชาวไทยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นหนุนเสริมให้ช่างทอผ้าและผู้ประกอบอาชีพด้านผ้าไทยได้มีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยพลังของพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกัน
“ทั้งนี้จังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดทำโครงการผู้ว่าฯ พาเติมบุญ ตักบาตรวันอาทิตย์ นอกเทศกาลเข้าพรรษาขึ้น ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและใกล้เคียงได้ร่วมทำบุญตักบาตร เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนส่งเสริม และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป อันสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการเป็นกลไกกลางในการงานของทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยมีคณะสงฆ์ เป็นหลักชัย เป็นศูนย์รวมจิตใจของการทำบุญตักบาตรและศาสนกิจต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวทิ้งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 265/2566 วันที่ 19 มี.ค. 2566