เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 66 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจกรมที่ดิน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารส่วนกลาง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังศาลากลางจังหวัด ทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำภูมิภาค หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางประจำภูมิภาค นายอำเภอ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปณิธานของคนมหาดไทยที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาขยายผลทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ ได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ (New Gen) ที่ต้องเผชิญกับสภาพสังคมที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และขาดสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริและพระราชทานแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” รวมทั้งทรงส่งเสริมให้โรงเรียน/สถานศึกษามีการเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เช่น การเลี้ยงไก่เพื่อนำไข่มาเป็นอาหารและต้องมีจำนวนไก่ที่มากกว่าจำนวนคน เพื่อจะได้มีทรัพยากรด้านอาหารที่เพียงพอสำหรับทุกคน อันเป็นการสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำริการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการขจัดความยากจน โดยกระตุ้นปลุกเร้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรณรงค์การเลี้ยงสัตว์เพื่อการพึ่งพาตนเอง เช่น เป็ด ไก่ กบ ปลา จิ้งหรีด และการปลูกพืชผักสวนครัว
“กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำริด้านต่าง ๆ มาขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์พระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” มาขับเคลื่อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา วันที่ 8 มกราคม 2566 อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทำให้ประชาชนทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนมีความสุข มีความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเกื้อการุณย์ ทำบุญสุนทาน และรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นแบบอย่างที่สำคัญ คือ ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และบ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็น 2 ชุมชนต้นแบบในการน้อมนำพระราชดำริดังกล่าวมาปฏิบัติในพื้นที่จนกลายเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ที่ประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืนในทุกมิติ จนทำให้ในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ Mr.Oscar Fernandez-Taranco ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) แสดงความประสงค์ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนูร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ตามโครงการหมู่บ้านยั่งยืนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยการทำให้หมู่บ้านเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหาร ตั้งแต่บริเวณบ้านเรือนสะอาดถูกสุขลักษณะขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ตลอดจนเกิดการรวมกลุ่มที่เป็นวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนมาตั้งแต่ในอดีต เป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน ที่มีการร่วมประชุมพูดคุยกัน รวมตัวกันช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนา ช่วยกันทำสิ่งที่ดีทำให้คนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อเกิดผลสำเร็จก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ขยายผลไปสู่ตำบล/หมู่บ้าน ที่ร่วมกันรักษาภูมิปัญญาไทยที่เป็นมรดกตกทอดไปสู่เยาวชนคนรุ่นหลัง และทำให้สังคมมีความมั่นคง ปลอดยาเสพติด ไม่มีโจรขโมย ยังผลไปสู่ความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคง ดังที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ UN ภายใต้แนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” โดยวิธีการที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความยั่งยืนได้ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ต้องเป็นผู้ที่ทำให้แม่ทัพในสนามรบ คือ “นายอำเภอ” เป็นกำลังสำคัญที่ได้ผ่านการอบรมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ด้วยการลงพื้นที่ไปให้กำลังใจนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ช่วยกันทำงานโดยการบูรณาการสร้างทีมที่มีความเข้มแข็ง ทั้งทีมทางการและทีมจิตอาสา ไปพูดคุยในอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ช่วยกันขับเคลื่อนทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข นำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึง การพัฒนางานบริการประชาชนในด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อรองรับการบริการภาครัฐและธุรกรรมออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น “ไทยดี : Thai Digital Identity (ThaiD)” เป็นไปอย่างทั่วถึง เกิดประสิทธิภาพ และทำให้พี่น้องประชาชนมีความสะดวกในการรับบริการของรัฐ จึงขอให้กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ อบรมให้คำแนะนำบุคลากรในการใช้งานแอปพลิเคชั่น “ไทยดี” พร้อมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้วิธีการลงทะเบียน วิธีการใช้งาน พร้อมจัดหน่วยเคลื่อนที่ลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งการนำเข้าวาระการประชุมกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย การลงพื้นที่พบปะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เยี่ยมเยียนประชาชน การพูดกระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ หอกระจายข่าว และทุกช่องทาง “โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนลงทะเบียนครบทุกครัวเรือนภายในเมษายน 2566” นี้ เพื่อเตรียมการขยายผลไปสู่ Digital Wallet มีเอกสารดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ในอนาคต พี่น้องประชาชนสามารถนำไปแสดงตนในการทำธุรกรรมได้อย่างครบวงจร อันเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่จะเปลี่ยนจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ด้วยการขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งแล้วจำนวน 313 แห่งในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้บูรณาการภาคีเครือข่าย ค้นหาผู้นำศาสนา นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน ไปช่วยกันอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในการช่วยเหลือผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และที่สำคัญ คือ การทำให้เกิดความยั่งยืน โดยวางแผนระบบการติดตามผู้ที่เข้ารับการอบรมเพื่อไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยการอำนวยความสะดวกทีมชุดตรวจติดตามในการลงพื้น สร้างกระบวนการจับเข่าคุยให้กำลังใจกันแบบพี่แบบน้อง และการดูแลทั้งตัวผู้อบรมตลอดจนครอบครัวของผู้อบรม เพื่อการเป็นกลไกติดตามและขยายผลสู่การสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบกับสภาพปัญหาไฟป่าและหมอกควัน PM 2.5 จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระดมสรรพกำลัง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันวางแผนการป้องกันไฟป่า หมอกควัน และเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน “โดยต้องเริ่มที่ต้นเหตุและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน จะมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องช่วยกันบูรณาการแก้ไข โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะต้องขับเคลื่อนงาน “มิติป้องกัน” มากยิ่งขึ้น เช่น การควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุจากการเดินทางสัญจรในเทศกาลวันหยุด การรณรงค์ป้องกันการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา การงดเว้นจำหน่ายเครื่องดื่มในบริเวณพื้นที่จัดงาน การป้องกันการจมน้ำของเด็กเล็กและผู้ใหญ่ที่อาจประมาทพลาดพลั้งจากการไม่ป้องกันตนเอง การรณรงค์ไม่ให้ประชาชนกินของดิบเพื่อป้องกันท้องเสียในช่วงฤดูร้อน การสำรวจตรวจสอบสายไฟฟ้าที่เป็นจุดก่อกำเนิดไฟไหม้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกวันนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน และขอให้บูรณาการภาคีเครือข่ายร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยการรณรงค์การฉีดวัคซีนในสุนัขและแมว และสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนได้มีความรู้เรื่องโรคและอาการของโรค เพื่อการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
“เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ที่ต้องเป็นผู้นำการส่งเสริมบทบาทของนายอำเภอ และส่วนราชการ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบูรณาการงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มุ่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 274/2566 วันที่ 22 มี.ค. 2566