วันนี้ (30 ก.ค. 66) เวลา 15.30 น. ณ ลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดมะขาม ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีรับถ้วยรางวัลพระราชทาน และพิธีปิดโครงการแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดปทุมธานี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า ร่วมพิธี โดยมี นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเมืองปทุมธานี นายปัญญา นพขำ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง นายสายันห์ นพขำ ที่ปรึกษา ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายธูปเทียนแพ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระรูปสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และเป็นประธานพิธีรับถ้วยรางวัลพระราชทาน การแข่งขันเรือยาวประเภทต่าง ๆ ได้แก่ 1) ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก่ “ทีมปัญญา ป.นำโชค จังหวัดปทุมธานี” ประเภทเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย โดยนายวชิรวิทย์ นพขำ ผู้จัดการเรือ 2) ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แก่ “ทีมธิดาจันทร์เจ้าไทยน้ำทิพย์ จังหวัดปทุมธานี” ประเภทเรือยาวกลาง 40 ฝีพาย โดย นายดิตถกร มงคลปทุมรัตน์ เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง ผู้จัดการเรือ 3) ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ “ทีมชาละวันสิงห์ลีโอ 3 จังหวัดพิจิตร” ประเภทเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย โดย นายบุญมี แก้วกำพล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขวาง ผู้จัดการเรือ และ 4) ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่ “ทีมเรือเพชรแท้ จังหวัดปทุมธานี” ประเภทเรือพายม้า 10 ฝีพาย โดยนายพุทธแท้ ทองอิ่ม ผู้จัดการเรือ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของท่านนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลางและทีมงาน ที่ได้มุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ประเพณีการแข่งเรือพายของไทย ซึ่งมีความสำคัญยิ่งไม่เฉพาะแค่การรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ แต่การฝึกฝีพาย การฝึกแข่งเรือ และการต่อเรือ ที่เป็นภูมิปัญญาไทยที่เราจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้
“เพราะร่างกายที่แข็งแรงและความรู้ความสามารถในการต่อเรือและการลงประชันฝีพายหรือการพายเรือนั้น ล้วนมีผลต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว กล่าวคือ ในอดีตกองทัพเรือเราก็ใช้เรือที่มาจากฝีพายของพี่น้องทหารหาญ ซึ่งก็คือพี่น้องประชาชนคนไทย และในปัจจุบันแม้ว่าการใช้เรือพาย เรือรบ เฉกเช่นในอดีตจะลดน้อยลง แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องใช้เรือพายในการขนส่งทางเรือ ที่ต้องใช้กำลังคนก็ดี หรือใช้ในการทหารก็ดี การพายเรือ การควบคุมเรือ ก็จะมีความสำคัญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอนผ่านคำขวัญกองเสือป่าที่ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย” คือการไม่ตกอยู่ในความประมาท” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาประเพณีแข่งเรือยาวนี้ไว้ นอกจากเป็นการช่วยรักษาให้ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษยังคงอยู่คู่กับประเทศชาติแล้ว ลูกหลานที่สนใจก็ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกภูมิปัญญาการต่อเรือให้ยังคงอยู่ต่อไป ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพลังความรู้รักสามัคคีผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานของคนในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากการท่องเที่ยว ซึ่งจากข้อมูลที่ท่านรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้รายงานให้ทราบ กิจกรรมฯ นี้ ทำให้มีเงินสะพัดอยู่ในจังหวัดปทุมธานี มากกว่า 10 ล้านบาท และมียอดวิวทางทีวีออนไลน์จากประเทศเพื่อนบ้านทั้งประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ทางยุโรป แอฟริกา ซึ่งจะเป็นสีสันและสร้างพัฒนาการการแข่งขันของเราให้เติบใหญ่เป็นระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต
“ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนผู้เป็นกำลังสำคัญในการทำให้กิจกรรมเรือยาวประเพณีของจังหวัดปทุมธานีมีความยิ่งใหญ่และมั่นคง ยั่งยืน และขอให้ได้ขยายฐานการแข่งขัน เพิ่มพูนให้มีประเภทเด็กและเยาวชนมาร่วมแข่งขัน รวมทั้งเชิญชวนพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมในการแข่งขัน อันจะยังผลทำให้ประเพณีอันดีงามได้รับการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน นายปัญญา นพขำ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง กล่าวว่า การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดปทุมธานี จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดปทุมธานีให้คงอยู่สืบไป เพื่อให้ข้าราชการ นิสิต นักศึกษา นักเรียน ตลอดจนพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดปทุมธานี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมการจัดงานด้านขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาลตำบลบ้านกลาง โดยมีการแข่งขันเรือยาวประเพณีในครั้งนี้ 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม 2) ประเภทเรือยาวกลาง 40 ฝีพาย ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม 3) ประเภทเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 12 ทีม และ 4) ประเภทเรือพายม้า 10 ฝีพาย ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 736/2566 วันที่ 30 ก.ค. 2566