วันนี้ (9 ส.ค. 66) เวลา 08.45 น. ที่สำนักชลประทานที่ 12 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดชัยนาท โดยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นางสาวชไมพร อำไพจิตร นายศรณ์จักรชัย ชูวาพิทักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 นายสันติ เต็มเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมการเพื่อรับน้ำแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2533 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ความว่า “.. เราควรพิจารณาว่า ถ้าสามารถที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วม สกัดไว้ไม่ให้ลงมาท่วม ก็จะบรรเทาการท่วมและลดความเสียหาย ฉะนั้นการหาทางที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วมเอาไว้ได้ สำหรับให้เป็นน้ำที่ให้คุณที่ช่วยให้มีรายได้ ก็จะเป็นการดีเป็นทวีคูณ.. ..การที่จะทำโครงการที่แยบคาย เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายในการท่วมนั้น และเพิ่มพูนผลิตผลในหน้าแล้ง ก็ได้ผลสองเท่าตัว คือไม่ต้องใช้เงินแก้ไข หรือบรรเทาทุกข์ของประชาชน ซ้ำจะได้ให้ประชาชนทำกินได้ เพิ่มพูนขึ้นไปเกือบสองเท่า..” อันหมายความว่า เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยหรือเวลามีน้ำมาก เราแก้ปัญหาโดยการเร่งระบายน้ำออก แต่พอน้ำหายท่วมหรือน้ำแล้ง เราไม่มีน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ดังนั้น หากเรามีที่ให้น้ำอยู่หรือมีที่กักเก็บน้ำ เราก็จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ จึงเป็นที่มาของทฤษฎีใหม่ที่มีการจัดสรรพื้นที่โดยมีแหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราต้องหาที่อยู่ให้น้ำ ทำให้น้ำมีที่ไป ช่วยบรรเทาการเกิดน้ำท่วม และใช้แหล่งน้ำมาทำประโยชน์ในการทำมาหากิน หรืออีกนัยหนึ่งยังมีความหมายอีกว่าเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำที่เรามีอาจยังจุน้ำได้ไม่มากพอ ดังนั้น ต้องขุดให้มีความลึกลงไปอีก ขุดเอาน้ำแลกดิน ทำสันเขื่อน สันฝายที่สูงขึ้น และไม่ได้เป็นเพียง Express way เพื่อระบายน้ำลงอ่าวไทยเท่านั้น ต้องเพิ่มพื้นที่ท้องอ่าง เพิ่มทุ่งกักเก็บน้ำและชะลอน้ำ โดยน้อมนำแนวพระราชดำรัสข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน เราทุกคนก็จะได้ประโยชน์ ตลอดจนยังช่วยลดความขัดแย้งในการต้องการใช้น้ำของพี่น้องประชาชนด้วย และนับเป็นความโชคดีของคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” และทรงอรรถาธิบายในเรื่อง “อารยเกษตร” กล่าวคือ คนไทยมีอาชีพเกษตรกร ซึ่งเราทำการเกษตร 365 วัน หรือทั้งปี แต่ประเทศไทยมีฤดูฝนเพียง 120 วัน (3 เดือน) ด้วยเหตุนี้ในช่วงวันที่เหลือนอกจากฤดูฝน เราจึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนถึงมีเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพและการทำเกษตรกรรม โดยนำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ ปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มพื้นที่ป่าตามศาสตร์พระราชา ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น
“นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังได้น้อมนำแนวทางขับเคลื่อนการทำงานตามหลัก “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” จึงได้ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำการรวบรวมฐานข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกับกรมที่ดินและหน่วยงานภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะกรมชลประทาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้นำทีมบูรณาการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำชุมชน เพื่อนำมาประมวลเป็นฐานข้อมูลสำคัญ ทั้งแหล่งน้ำปัจจุบันและแหล่งน้ำเก่าที่หายไป ได้ดำเนินการจัดทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้ส่งให้กรมชลประทานเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน “โดยทันที” ไม่รีรองบประมานของราชการ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินโครงการไปแล้วกว่า 8 หมื่นโครงการ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนนำร่องพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำสาธารณะจากข้อมูลผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) และภาพถ่ายทางอากาศของกรมที่ดิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ถึงปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบและสืบค้นหาแหล่งน้ำเพื่อนำมาฟื้นฟูใช้ประโยชน์ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องทำหน้าที่ที่สำคัญของผู้นำ คือ ช่วยกันกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งที่ผิด” ทั้งการจัดระเบียบหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เจ้าของที่ดินมีแหล่งกักเก็บน้ำ มีการบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นและฉุกเฉิน รวมทั้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ เป็นกำลังสำคัญช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน มีแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น น้ำบาดาล เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และประกอบอาชีพ เพราะน้ำคือชีวิต ซึ่งจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกเราในปัจจุบัน ทำให้เราเผชิญกับสาธารณภัย ทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกทิ้งช่วง กลับกันยังมีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม เกิดเป็นอุทกภัย จึงเป็นโอกาสดีที่ในวันนี้ได้มาประชุมร่วมกับกรมชลประทานเพื่อที่จะมีข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันสำหรับหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศต่อไป
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง ทำให้เป็นต้นแบบ ให้เกิดแหล่งน้ำขนาดย่อมหรือขนาดเล็กประจำครัวเรือน เช่น ทำพื้นที่ให้เป็นหลุมขนมครก เก็บน้ำจากฟ้าไม่ให้ไหลออกนอกพื้นที่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ “คิดให้แยบคาย” ป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งที่ได้ประโยชน์ 2 ต่อ นอกจากนี้ ต้องช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ ด้วยการสร้างทีมจิตอาสาจากกลไกในพื้นที่ ลงพื้นที่ไปพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย ตลอดจนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ทำให้หมู่บ้านชุมชนมีประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และหากทุกชุมชนทุกจังหวัดมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่ทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน
นายสันติ เต็มเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง และการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ โดยมีปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน 25 แห่ง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 10 แห่ง ซึ่งภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2566 มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยเพียง 14,187 ล้าน ลบ.ซม. น้อยกว่าปีก่อน ประมาณ 2,500 ล้านลบ.ซม. ซึ่งภาพรวมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 3,300 ล้าน ลบ.ซม. โดยเราแบ่งช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือน พ.ค. ถึง ต.ค. ฤดูแล้ง เดือน พ.ย.- เม.ย. ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ค. 66 ถึงปัจจุบัน มีฝนตกน้อยส่งผลกระทบกับการเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ คล้ายกับปี 2558 แต่มีความแห้งแล้งที่รุนแรงน้อยกว่า
“สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน โดยมีเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ ไหลมารวมที่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจากข้อมูลในปี 2565 มีฝนตกมาก ทำให้มีปริมาณความจุน้ำมากกว่าปกติ แต่ในปี 2566 มีปริมาณน้ำต่ำกว่า ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีน้ำแล้ง จึงได้นำน้ำที่เหลือมาใช้ในหน้าแล้ง โดยมีแผนการปรับปรุง ปฏิทินฤดูกาลเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม ทำให้ในขณะนี้บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกษตรกรเริ่มมีการเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งแผนการรับมือต่อไปอาจต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 เขื่อน มาช่วยระบายน้ำ ทดน้ำที่น้อยไม่ให้ส่งผลกระทบกับการจัดการน้ำในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งชลประทานชัยนาท ลพบุรี และนนทบุรี ได้บูรณาการช่วยกันรักษาเกณฑ์การระบายน้ำอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยจากผลการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน มีผลการจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 4,664 ล้าน ลบ.ซม. จากแผน 5,500 ล้าน ลบ.ซม. ยังต่ำกว่าแผนเนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อย แต่ยังคงรักษาระดับปริมาณน้ำได้ และจากคาดการณ์ หลังจากสิ้นสุดฤดูฝน 1 พ.ย. 2566 ของกรมชลประทาน จะมีปริมาณน้ำเหลือต่ำกว่าปกติครึ่งหนึ่งจากปี 2565 โดย 4 เขื่อนหลักจะมีปริมาณน้ำเหลือ 7,239 ล้าน ลบ.ซม. จึงต้องขอความร่วมมือช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในเดือนสิงหาคมนี้ยังคงงดการเพาะปลูกต่อไปจนกว่าสถานการณ์น้ำจะปกติ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำน้อย ทั้งนี้ ทางกรมชลประทาน จะบริหารจัดการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ สถานการณ์เอลนีโญ่อย่างละเอียดรอบคอบอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยที่สุด” นายสันติ เต็มเอี่ยม กล่าวในช่วงท้าย
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ตรวจดูระดับน้ำบริเวณพื้นที่ริมเขื่อนเจ้าพระยา จากนั้นได้เดินทางไปยัง เขาขยาย ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท เพื่อร่วมปลูกต้นไม้ ได้แก่ ต้นจามจุรี แคนา ต้นจิก และต้นไทรนิโครธ ตามโครงการฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้น ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้เขาขยาย เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่พื้นที่สวนสาธารณะ สร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 763/2566 วันที่ 9 ส.ค. 2566