เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 เวลา 15.30 น. ที่ อาคารอเนกประสงค์เทศบาลเมืองตะพานหิน ต.ตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยได้รับเมตตาจาก พระครูพิสณฑ์กิจจาทร, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดทับหมัน และพระณรงค์ ติกฺขปญฺโญ ผู้ช่วยเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ร่วมประชุม โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโณทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนงาน ซึ่งมีนายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร หัวหน้าส่วนราชการ นางสาวปิยะฉัตร ไพชนม์ นายอำเภอตะพานหิน นายสุรพล เตียวตระกูล นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร นายปัญญา แพมงคล นายกเทศมนตรีเมืองตะพานหิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พร้อมทั้งเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และงานหัตถกรรม รวมถึงผลผลิตจากแปลงพืชผักสวนครัว ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และผลผลิตโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พร้อมลงนามสมุดตรวจเยี่ยมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร ซึ่งในวันนี้คณะผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น อีกทั้งยังได้ชื่นชมของดีของชุมชนที่มาแสดงในพื้นที่ ทำให้ตนรู้สึกมีความอิ่มอกอิ่มใจอย่างยิ่งว่าภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรได้ทำให้พี่น้องชาวพิจิตรทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อันสะท้อนจากการดำเนินงานของทุกอำเภอในจังหวัดพิจิตรที่ภาพรวมนั้นถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์การใช้แอปพลิเคชัน ThaiD รวมถึงการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเรื่องการบูรณาการกับภาคีเครือข่าย ซึ่งอำเภอตะพานหินให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาคนอย่างเห็นได้ชัด
“การประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน ThaiD ให้ได้ผลสำเร็จนั้น เราต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยระดมสรรพกำลังในพื้นที่ด้วยกลไกทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนไปช่วยกันสร้างทีมที่เปรียบเสมือนการสร้างผู้เป็น ครู ก. หรือ ครู ข. หรือผู้ที่ใช้ได้และทำเป็น เพื่อลงพื้นที่ไปสอน ไปให้คำแนะนำ ไม่ใช่เพียงแต่บอกเล่าประชาสัมพันธ์ ดังนั้น ข้าราชการทุกคน รวมถึงทีมที่เป็นภาคีเครือข่ายจึงต้องเป็น “ผู้นำที่ทำก่อน” เพื่อเป็นตัวอย่างให้น้อง ๆ ในทีมได้ทำตาม สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่เริ่มจากการส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน ซึ่งมีหัวหน้ากลุ่มบ้าน อาทิ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นแกนนำสำคัญที่ใช้แอปพลิเคชัน ThaiD เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนรู้จักและสามารถถ่ายทอดไปยังพี่น้องประชาชนในชุมชนให้รู้จัก ThaiD ดังนั้น หากเราใช้วิธีการสอนให้ทำ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยผลักดันการรณรงค์เรื่องนี้ให้สำเร็จได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องสวมบทบาทในฐานะ “ผู้นำการบูรณาการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล” เพื่อทำให้การบริหารราชการแผ่นดินในระดับพื้นที่ตามระเบียบกฎหมายซึ่งได้กำหนดให้เราเป็นผู้นำ ผู้เปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีประจำพื้นที่ ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องเอาใจใส่งานทุกงานของทุกกระทรวง ทุกกรม เพราะทุกงานมีเป้าหมายคือ “พี่น้องประชาชน” ซึ่งการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นและสำเร็จได้นั้น ทุกคนจะต้องมีจิตอาสา ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการให้พวกเราทุกคนช่วยกันทำเพื่อส่วนรวมด้วยพลังจิตอาสา เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนงานของทุกหน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน อันเป็นพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยที่ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำและถ่ายทอดไปยังนายอำเภออยู่สม่ำเสมอผ่านการอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อให้นายอำเภอไปสร้างทีมอำเภอที่มีจิตอาสา แล้วทีมก็ไปร่วมกันลงพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาคนในพื้นที่ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้คอยกำกับดูแลในการขับเคลื่อนงานสร้างทีม ทั้งนี้ “ผู้นำที่ดี” จะต้องเป็นผู้ที่มีการสื่อสาร (Report) ที่ดี ทั้งต่อผู้บังคับบัญชา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และภาคีเครือข่าย เพื่อจะยังผลให้เกิดงานที่มีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนถึงการสื่อสารในด้านการติดตาม การประเมินผล การรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ผ่านระบบ MOI War Room ที่เป็นเครื่องมือในการติดตามผลการดำเนินงาน ของกระทรวงมหาดไทยในทุกมิติ
“ในฐานะผู้นำที่ดี จะต้องแนะนำ ซักซ้อม ทำความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานตามหน้าที่ ตามความรับผิดชอบเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ไปทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” เพราะความสำเร็จอยู่ที่หมู่บ้าน อยู่ที่พื้นที่ ไม่ใช่อยู่ที่ที่ว่าการอำเภอ การลงไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รับรู้ปัญหาที่แท้จริง เสมือนลูกหลานไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ แม้ไม่ใช่ญาติทางสายเลือด แต่เป็นญาติด้วยความเป็นคนไทยด้วยกัน ดังสุภาษิตที่ว่า “วิสฺสาสปรมา ญาตี” ความสนิทสนมเป็นญาติอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนที่ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับ “การสร้างทีม” เพื่อให้ทีมมีการทำงานไปในแนวทางเดียวกันควบคู่ไปกับการให้นายอำเภอทำการโค้ชชิ่ง แนะนำ และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบลในการเข้าถึงพี่น้องประชาชน “เพราะคนมีความสำคัญ” กระทรวงมหาดไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำ เพื่อติดอาวุธทางปัญญา คือ “ต้องมีความรู้ความเข้าใจในองค์รวม” โดยการบูรณาการคน บูรณาการงาน ทั้งทีมที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต มีที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรง มีความมั่นคงทางอาหาร ชุมชนปลอดยาเสพติด มีความสามัคคี มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีศีลธรรม และพร้อมถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีไปสู่ลูกหลานให้เรียนรู้ในการดำเนินชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พวกเราชาวมหาดไทยทุกคน ช่วยกันทำให้สถานที่ราชการโดยเฉพาะศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ให้เปรียบเสมือนบ้านของประชาชน และช่วยกันทำให้ทุกชุมชน/หมู่บ้าน ทุกครัวเรือน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงถอดบทเรียนจากโครงการในพระราชดำริ 4,741 โครงการ ที่จะต้องประกอบไปด้วย กระบวนการ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง” จึงขอให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกัน Change for Good ทำสิ่งที่ดีต่อสังคม ต่อพื้นที่ เพื่อให้พวกเราทุกคนได้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ทำให้ประชาชนสุขใจ ช่วยกันเป็นพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการดูแลพี่น้องประชาชนให้มีความสุข สนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI #Changeforgood #หมู่บ้านยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 764/2566 วันที่ 9 ส.ค. 2566