“ผู้นำต้องทำก่อน” ผู้ว่าฯ ลำปาง นำหัวหน้าส่วนราชการ ปลูกพืชผักสวนครัว ขับเคลื่อนโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และขยายผลโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” อย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำ ช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหารตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
วันนี้ (6 ก.ย. 66) นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จังหวัดลำปาง มุ่งเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยนำนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อขับเคลื่อนขยายผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้บริโภคผักปลอดสารพิษ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการลดการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกพื้นที่ อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง และเมื่อมีอาหารเพียงพอก็สามารถแบ่งปันในชุมชนได้ ซึ่งการแบ่งปันแบบยั่งยืน คือ การแบ่งพันธุ์ต้นกล้าเมล็ดพันธุ์ขยายผล “ธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน” ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สร้างความรักความสามัคคีของคนในครัวเรือนและกลุ่มบ้าน ด้วยการรวมตัวกันเป็นคุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน รื้อฟื้นรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนคนไทยกลับคืนมา ช่วยกันดูแลความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และท้ายที่สุด คือ การร่วมรับประโยชน์
“จังหวัดลำปาง ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร โดยยึดแนวทางที่ว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” ตนจึงได้เปิดพื้นที่ในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อให้ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ในกระทรวง กรม อื่น ๆ ได้เห็น และเพื่อให้ในอนาคตได้ช่วยกันเชื้อเชิญมาร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัวอย่างพร้อมเพรียงกัน และภายหลังจากนี้จะมีการติดป้ายแนะนำการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชผักสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ การจัดทำสถานที่นั่งเล่น จุด Landmark บริเวณลานกลางสวน จัดทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและเรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัวให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ส่วนราชการ และประชาชนที่มาติดต่อราชการ พร้อมทั้งช่วยกันการบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกันรณรงค์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีผักสวนครัวที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน” นายชัชวาลย์ฯ กล่าว
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวอีกว่า ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ตนพร้อมด้วยนายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางสาวสุดาทิพย์ มูลอ้าย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง นางสาวรตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง และหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง ร่วมปลูกพืชผักสวนครัว บริเวณสวนหย่อมตรงกลางอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และขยายผลโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยใช้หลักคิด “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อสร้างการรับรู้ และการเป็นต้นแบบ แม่แบบ ให้ส่วนราชการอื่น ๆ ภายในศาลากลาง ได้มีการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยวันนี้ได้ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัวเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักตามฤดูกาล อาทิ ผักบุ้ง มะเขือ ผักเชียงดา คะน้าใบ กะหล่ำดอก โดยมีส่วนราชการหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนพืชผักสวนครัว ปุ๋ย และฟาง เป็นต้น
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การปลูกพืชผักสวนครัว ในโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และขยายผลโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” อย่างต่อเนื่อง ของจังหวัดลำปาง ยังสอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อพัฒนาพี่น้องประชาชนให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับหลักการสากลที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกบ้าน ทุกชุมชน ร่วมกันปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร และร่วมกันทำให้มี “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” เพื่อนำไปปลูกและขยายผลในหมู่บ้าน/ชุมชน/ครัวเรือน พร้อมทั้งการปรับพื้นที่หลังบ้านพักเป็นแปลงผักและลงมือปลูกผักหลากหลายชนิด และใช้ฟางแห้งห่มดินเพื่อลดการระเหยของน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดิน พร้อมทั้งขับเคลื่อน “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น ภายในบริเวณดังกล่าว” ผวจ.ลำปาง กล่าวทิ้งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 844/2566 วันที่ 6 ก.ย. 2566