เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 66 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมแลกเปลี่ยนแนวคิด “ผู้ว่าฯ CEO” ร่วมกับนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมี นางอารีพันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจากทั่วประเทศ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับเกียรติจากนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 34 และนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 39 ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการหยิบยกประเด็นการขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดินในส่วนภูมิภาคภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำการบูรณาการส่วนราชการตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็วเพื่อสนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยยึดหลัก “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ซึ่งชาวมหาดไทยทุกคนต่างรู้จักกันดีและเรียกขานกันแบบง่าย ๆ ว่า “ผู้ว่าฯ CEO” ดังที่ตนได้กล่าวอยู่เสมอทั้งในที่ประชุมและการพบปะผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทั่วประเทศ รวมถึงการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่อยู่เสมอว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรีของจังหวัด” นายอำเภอเปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรีของอำเภอ” ดังนั้นคำว่า นายกรัฐมนตรีนั้นคือ การเป็นผู้ที่ต้องนำเอานโยบายของทุกกระทรวง ทุกส่วนราชการ ไปขับเคลื่อนในพื้นที่เพื่อให้บังเกิดผลดี ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด
“คำว่า “ผู้ว่าฯ CEO” เกิดขึ้นจากนโยบายการปฏิรูประบบราชการที่ต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อนความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ และพิจารณาการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ตลอดจนการบริหารราขการในพื้นที่จังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างของระบบราชการ หนุนเสริมประสิทธิภาพการบริหารราชการในพื้นที่ให้ส่งผลดีต่อประชาชนและทางราชการ โดยนำแนวคิดของภาคธุรกิจเอกชนมาปรับใช้ในการปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจบังคับบัญชาโดยตรง และสามารถที่จะกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบการบริหารราชการจังหวัดตามแนวคิด “ผู้ว่าฯ CEO” ได้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาทดลองโดยกระทรวงมหาดไทยในปีงบประมาณ 2545 ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดชัยนาท จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งจากการประเมินโครงการปรากฏว่าการแบ่งงานตามแผนงานของผู้ว่าฯ CEO ในจังหวัดทดลองมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์สูง และได้รับความพึงพอใจในภาพรวมสูงกว่าจังหวัดที่ไม่ได้มีการทดลอง นำมาสู่การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 และวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 เห็นชอบให้ทุกจังหวัดใช้การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 พร้อมทั้งได้ออกระเบียบกฎหมายสำคัญเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ว่าฯ CEO คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการทำให้งานของจังหวัดเกิดผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า หลักการสำคัญของ “ผู้ว่าฯ CEO” คือ การเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดที่สามารถบริหารจัดการงานทุกมิติให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐกับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ในมิติต่าง ๆ โดยมีระเบียบ กฎหมาย การมอบอำนาจ การระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณให้ผู้ว่าฯ CEO ดังนั้น ผู้ว่าฯ CEO จึงต้องเป็นผู้นำการเสริมสร้างพลังของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้มีความเห็นพ้องต้องกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และร่วมกันกำหนดเป็นวาระการพัฒนาร่วมกัน มีการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่โดยการนำปัญหาและความต้องการของประชาชนมากำหนดเป็นแนวทางให้สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัดตนเอง ซึ่งการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าฯ CEO ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. ในวันนี้ ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารส่วนราชการระดับกรมของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนจากทั่วประเทศ ได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิด รวมถึงให้ข้อเสนอแนะทั้งในเชิงระบบและข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่ ซึ่งพบว่าในแต่ละจังหวัดได้ประสบพบกับสภาพปัญหาอุปสรรคที่แตกต่างกันไปตามภูมิสังคม
“ตนได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวคิด “ผู้ว่าฯ CEO” จากผู้มีความรู้ ประสบการณ์ในพื้นที่ อาทิ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกษียณอายุราชการไปแล้วในพื้นที่ของตนเอง ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน มาร่วมกันคิด ร่วมพูดคุย ร่วมเสนอแนะ เพื่อนำเสนอแนวทางอันจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อจะได้ทำให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมรับประโยชน์ในอนาคต ซึ่งการระดมความคิดเห็น การพูดคุยกัน จะต้องไม่จบแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่เรียกมาคุยกันประเดี๋ยวเดียวแล้วแยกย้าย แต่ต้องทำบ่อย ๆ ทำอย่างประจำสม่ำเสมอ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการที่จะช่วยทำให้กลไกของการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้นำ ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนการดูแลพี่น้องประชาชน ดูแลประเทศชาติ ร่วมกับพี่น้องกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ก้าวเดินไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อร่วมกัน Change for Good ทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น อันเป็นการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมให้ราชการส่วนภูมิภาค คือ จังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความแข็งแรงให้ได้ภายใต้กรอบหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งใช้เป็นหลักในการขับเคลื่อนการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การประเมินจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง การประเมินรางวัลเลิศรัฐ โดยจากการติดตามประเมินงานของพื้นที่พบว่า ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประสบปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานในพื้นที่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้นำแนวทางตามนโยบายรัฐบาลร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เร่งศึกษา และแลกเปลี่ยนแนวคิดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งการทำงานของกรมการจังหวัด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 900/2566 วันที่ 26 ก.ย. 2566