เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์การค้าดิเอ็มควอเทียร์ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมในพิธี โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดร.ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ประจำกรมกิจการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) ประจำปี 2562 นายเผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทย พร้อมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายศิริชัย ทหรานนท์ นายภูภวิศ กฤตพลนารา นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ดร.กรกลด คำสุข นายนุวัฒน์ พรมจันทึก นายมีชัย แต้สุจริยา และนายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยทรงน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมอันล้ำค่าของแผ่นดิน ไว้เป็นพระราชภาระ ด้วยพระองค์ได้ทรงเรียนรู้ผ่านการโดยเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และเมื่อทรงเจริญวัยก็ได้เข้าศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อยอดองค์ความรู้ ณ สถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะได้เป็นกำลังของแผ่นดินในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม และต่อยอดให้เข้ากับแฟชั่นนิยมสมัยใหม่ เพื่อที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งงานศิลปกรรมอันล้ำค่า ให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตราบกาลนาน ซึ่งได้พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อันหมายถึง ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ทั้งนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” ให้ได้มีองค์ความรู้ด้านแฟชั่นดีไซน์ประยุกต์เข้ากับผ้าไทย ทั้งรูปแบบ ลวดลาย สี เรื่องราว และบรรจุภัณฑ์ ที่สอดรับกับความนิยมชมชอบของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมทั้งพระราชทานพระดำริ Sustainable Fashion เพื่อให้ผืนผ้าและหัตถกรรมไทย เป็นชิ้นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงทรงเชื้อเชิญให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งดีไซเนอร์ชั้นนำระดับประเทศ ผู้ทรงความรู้ด้านผ้าไทย และผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสีธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ “คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ไปอบรมบ่มเพาะ ถ่ายทอดความรู้และแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาและต่อยอดผืนผ้าไทย ให้เป็นผืนผ้าแห่งอัตลักษณ์ ความงดงาม และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่พระองค์ได้ทรงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ ตรากตรำพระวรกายเสด็จไปทรงงานด้วยพระองค์เองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งพระราชทานพระกรุณาให้คณะทำงานฯ ได้ลงไปติดตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“ในรอบ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทำให้พี่น้องชาวมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กรมการพัฒนาชุมชน” ได้มีความกล้าหาญ มีใจที่รุกรบ มีกำลังใจในการที่จะไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชน น้อมนำพระดำริไปขยายผลถ่ายทอดลงไปทำให้พี่น้องประชาชนได้เชื่อมั่นว่า หากพัฒนาผืนผ้าและงานหัตถกรรมให้สอดรับกับความนิยมชมชอบของผู้บริโภคสมัยใหม่ โดยไม่ละทิ้งรูปแบบอัตลักษณ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม ดังแนวพระดำริของพระองค์ท่าน จะทำให้เขาได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ไปเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ใช้ชีวิตได้มีความสุขอย่างยั่งยืน เช่น เรื่องการรณรงค์ทอผ้าด้วยสีธรรมชาติแทนสีเคมี ในปีแรกเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่ายากมาก พอปีที่ 2 ก็เริ่มสบายขึ้น เพราะได้ทดลองทำในปีแรกแล้ว และปีที่ 3 ก็ง่ายขึ้น จนกลายเป็นชิ้นงานที่ล้ำค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง ซึ่งปรากฏเป็นผลลัพธ์แห่งความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน หรือ Best Practice ที่บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่ในอดีตชาวบ้านก็จะย้อมผ้าด้วยสีครามเข้ม และทำรูปแบบเดิม ๆ จนเคยชิน แต่เมื่อน้อมนำพระดำริของพระองค์ท่านไปพัฒนาลวดลาย จนกลายเป็น “ดอนกอยโมเดล” ส่งผลทำให้จากเดิมมีรายได้เดือนละประมาณ 700 บาทต่อคน ปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 12,000 บาทต่อเดือน และได้พัฒนากลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยเป็น “ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย” “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่กลายเป็นกระบอกเสียง และเป็นศูนย์รวมการพัฒนาผ้ายอมครามในทุกมิติ ทั้งการผลิต การจำหน่าย การเพิ่มมูลค่าอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า จากเมื่อ 3 ปีก่อนถึงวันนี้ ภาพรวมของประเทศไทยเราสามารถขับเคลื่อนงานผ้าไทยที่จากเดิมมีรายได้ ปีละ 20,000 ล้านบาทต่อปี กลายเป็น 80,000 ล้านบาทต่อปี และยังได้รับเสียงชื่นชมจากผู้นิยมชมชอบผ้าไทยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า ปัจจุบันงานผ้าไทยคึกคัก คนนิยมมากขึ้น ดังเช่นในพิธีเปิดงาน OTOP Midyear 2023 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า “น่าชื่นใจที่ตอนนี้สินค้า OTOP โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานผ้าและงานหัตถกรรมตลอดจนอาหารการกิน เป็นงานที่เราไม่ต้องไปชวนคนซื้อเพียงเพราะว่าจะได้บุญ จะได้ช่วยคนชนบทให้มีรายได้ ทุกวันนี้ไม่ต้องคิดแบบนี้แล้ว เพราะถ้าเรามางาน OTOP เราจะเห็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกใจ สิ่งที่มีคุณภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าผลสำเร็จของการทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเกิดขึ้นจริง อันเป็นประจักษ์พยานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นอกจากนี้สิ่งที่พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำอยู่เสมอ คือ “การส่งต่อถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับคนรุ่นใหม่” ก็ประสบความสำเร็จ ทำให้คนที่เคยประสบปัญหาช่วงโควิด-19 แล้วต้องกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ด้วยการรับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย จนกลายเป็นช่างทอผ้า แม้สถานการณ์โรคระบาดจะผ่านไปแล้ว แต่เขาเหล่านั้นก็ยังคงทอผ้าจนยึดเป็นอาชีพทำงานต่อไป เพราะพวกเขาเหล่านั้น ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้เห็นแล้วว่า ผ้าไทยทำให้มีเงินรายได้ที่เพิ่มพูน รวมทั้งเดินไปทางไหนก็เจอแต่คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ลูกหลานก็เกิดแรงจูงใจที่อยากขับเคลื่อนเรื่องผ้าไทยและหัตถกรรมไทยต่อจากปู่ย่าตายาย
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ไม่เคยทอดทิ้งพสกนิกรของพระองค์ ด้วยการทรงทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพราะพระองค์ท่านทรงเห็นแบบอย่างจากการตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงปรารถนาที่จะทำให้คนไทยในถิ่นชนบทได้มีรายได้จากการทำผ้า ทอผ้า ย้อมผ้า ยึดเป็นอาชีพเสริม และไม่ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน พร้อมกับฝึกฝนพัฒนาตนเองที่จะทำงานผ้า ทรงทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไทยอยู่คู่ลูกคู่หลานและเกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ พระองค์ทรงส่งเสริมให้ประชาชนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการประกอบการทำงาน ด้วยการ “พึ่งพาตนเอง” โดยเฉพาะเรื่องงานผ้า ให้ใช้สีธรรมชาติจากพืช ดิน และทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว โดยไม่ทรงสนับสนุนให้ใช้สีเคมี ทั้งการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รู้จักปลูกต้นหวาย ปอกระจูด ย่านลิเภา ให้มีอย่างพอเพียง ซึ่งพระองค์ท่านน้อมนำแนวคิดของสมเด็จปู่ที่ได้พระราชทานให้กับคนไทยมาใช้ในชีวิตจริง จนล่าสุดกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำเสนอผ้าไทยที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เข้ารับการพิจารณารับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติซึ่งใกล้เคียงกับความสำเร็จแล้ว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอบคุณคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก และพี่น้องชาวมหาดไทยทุกคนที่ได้ช่วยทำให้พระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำไปสู่พี่น้องประชาชน สามารถทำให้พี่น้องประชาชนกลายเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ พัฒนาภูมิปัญญาของตนเองในงานหัตถกรรมและงานผ้าไทย จนก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งทุกท่านทุกคนได้น้อมนำหลักการพัฒนาคน ด้วยการไม่ให้ปลากับชาวบ้าน แต่ “แนะนำวิธีการหาปลา ให้เครื่องมือจับปลา” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเพียรพยายามทำมาตลอด 70 ปี และเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ และพระราชโองการองค์ที่ 2 ที่พระราชทานว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประสบความสำเร็จ คือ ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ด้วยเพราะประชาชนมีความสุข และขอให้ทุกคนได้จดจำว่า พวกเราชาวมหาดไทยรวมทั้งสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จะจดจำคุณงามความดีที่คณะทำงานฯ ทุกท่านได้เมตตา ช่วยสนองงานและเป็นผู้ที่ช่วยหนุนเสริมทำให้คนมหาดไทยทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยในการสนองงาน เพื่อทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนตลอดไป
สำหรับการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม มีผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด ทั้งสิ้น 7,086 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 6,290 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 796 ชิ้น โดยมีผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านเข้ารอบประกวดรอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ทั้งสิ้น 225 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 200 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 25 ชิ้น
“ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผลงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ (Final) จำนวน 75 ผืน/ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า 65 ผืน และหัตถกรรม 10 ชิ้น โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร ต่อไป”
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 908/2566 วันที่ 29 ก.ย. 2566