เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ เปิดเผยถึง สถานการณ์ภายหลังจากได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอลอง บริเวณหมู่ที่ 1, 2, 4, 5, 7, 9, 10, 12 ตำบลบ้านปิน หมู่ที่ 1, 9, 11, 12, 14 ตำบลห้วยอ้อ และหมู่ที่ 3, 4, 5, 6, 7 ตำบลตาผามอก ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 19.00 น. และเกิดสถานการณ์ฯ ในพื้นที่อำเภอวังชิ้น บริเวณหมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11 ตำบลสรอย หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10 ตำบลป่าสัก หมู่ที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 12, 13, 15, 16 ตำบลแม่พุง หมู่ที่ 2, 3, 5, 6, 7, 8, 9, 11 ตำบลวังชิ้น หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ตำบลแม่เกิ๋ง และหมู่ที่ 2, 4, 6, 7, 8 ตำบลป้าก ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 01.00 น.
“เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ประกอบกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวข้างต้น เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน” นายชุติเดชฯ กล่าว
นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในครั้งนี้ เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเร็วและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่เกิดภัย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 909/2566 วันที่ 29 ก.ย. 2566