วันนี้ (1 ต.ค. 66) เวลา 07.30 น. ณ พระบรมราชานุสาวรีย์หน้าพระราชวังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการระดับกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2347 มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามตามที่เฉลิมพระบรมนามาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวร กระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อนำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า อาทิ ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ซึ่งพระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2411 พระชนมพรรษา 64 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 17 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงกอปรด้วยพระบรมราชกฤษฎาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร เสด็จสถิตในพระราชธรรมจริยาสถาพรมิหวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยในทางบำรุงราชอาณาจักรให้ดำรงอิสราธิปไตยอย่างมั่นคง ทรงค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนาให้ดำรงบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย พร้อมพระราชทานเสรีภาพทั่วไปแก่อาณาราษฎร ยังให้สยามรัฐสีมาสามารถรอดพ้นภัยดัสกรอันคุกคามมาประชิด อีกทั้งทรงผูกราชสัมพันธมิตรกับนานามหาประเทศ ทรงมีสายพระเนตรสอดส่องการณ์ไกล สามารถวินิจฉัยในคุณและโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษนำประโยชน์มาบัญญัติโดยมหัจฉริยปรีชา ทรงเชี่ยวชาญศิลปวิทยาเสมอปราชญ์แห่งไพรัชประเทศในเขตอัสดงคต มิทรงละลดพระวิริยอุตสาหะและพระวิจารณปัญญากล้าแกร่ง สำแดงพระบรมราชกุศโลบายอันแยบคายและลึกซึ้ง ทรงพระราชญาณทัศนะสอดส่องถึงอนาคตกาลแห่งราชอาณาจักร ทรงเผยพระราชศักดานุภาพทางพระปัญญาบารมีอันคมกล้า เสมือนราชศัสตรารักษาชาติไทย ทรงวางวิถีพระบรมราโชบายพระราชทานให้สมเด็จพระบรมราชปิโยรส บังเกิดปฐมบทสู่การสืบสาน รักษา และต่อยอดตลอดไป พระบารมีธรรม ซึ่งทรงสั่งสมไว้มากเหลือคณานับ ประดุจมหาวราภรณ์ประดับพระเกียรติคุณอลังการ แม้ตราบถึงวารเสด็จสวรรคต พระสติสัมปชัญญะยังปรากฏมั่นคงตลอดขณะ จวบถึงสภาวะอันเป็นที่สุด คือพยานแห่งลักษณะมหาบุรุษมหัศจรรย์ พระองค์คือบุพการีผู้ยิ่งใหญ่แห่งพสกนิกร…ปรารภเหตุดั่งนี้ รัชสมัยของพระองค์ตลอดจนถึงมหามกุฏราชสันตติวงศ์สืบมา จึ่งยิ่งยงวัฒนา รุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความผาสุกผ่องพ้นไพรี ประหนึ่งมีพระสยามเทวาธิราชคอยเฝ้าอารักขา พระองค์เป็นพระมหาราชเจ้าผู้ทรงเปรียบแม้นเทวดา ทรงวิทยาภรณ์เป็นมหามงกุฎปกเกล้าปกกระหม่อมชาวสยาม สมควรจะได้สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช”
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 916/2566 วันที่ 1 ตุลาคม 2566