วันนี้ (1 พ.ย. 66) นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอเดชอุดม ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลโพนงาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 225 ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม ร่วมกันลงพื้นที่ ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กำชับให้ฝ่ายปกครองทั่วประเทศจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อกวดขันปราบปรามผู้มีอิทธิพล การจัดระเบียบสังคม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนัน และอาวุธปืน โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมการปกครองได้บูรณาการจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองร่วมกับทุกจังหวัดและอำเภอ โดยเริ่ม Kick off ในวันที่ 1 พ.ย. 2566
“จากการสนธิกำลังของชุดปฏิบัติการพิเศษอำเภอเดชอุดม เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้สามารถทำการจับกุมแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบในพื้นที่ได้ โดยจากสืบสวนและสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า มีการเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และในเบื้องต้นได้ทำการตรวจค้นสถานที่ตั้งของแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 19 ราย พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบเป็นรถยนต์ 14 คัน รถจักรยานยนต์ 5 คัน ปืนไทยประดิษฐ์ 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน บัญชีรายชื่อผู้กู้ 74 ราย ใบปลิวเชิญชวนกู้เงินจำนวน 3,000 แผ่น จึงทำการตรวจยึดเพื่อขยายผลและดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายศุภศิษย์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต่ออีกว่า การกระทำดังกล่าวแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบในพื้นที่อำเภอเดชอุดม อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากการทวงหนี้มีลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่น หรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1 – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท และการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ทางชุดปฏิบัติการพิเศษทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี จะมีการเพิ่มการตรวจสอบหนี้นอกระบบให้ครบทั้งระบบ ทั้งแก๊งหมวกกันน็อก ปล่อยเงินกู้ที่ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การปล่อยเงินกู้ออนไลน์ แก๊งรับจำนำรถ รับขายฝากที่ดิน จำนองที่ดิน และการวางประกันต่าง ๆ รวมถึงจะตรวจสอบและปราบปราบในเรื่องของยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนัน และอาวุธปืน ในทุกพื้นที่ โดยหากพบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดรายใด จะขยายผลจับกุมให้ถึงตัวการใหญ่ให้ได้ พร้อมทั้งให้ชุดปฏิบัติการพิเศษรายงานผลการปฏิบัติให้ทราบตามวงรอบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถควบคุมสั่งการ และให้ความช่วยเหลือกรณีพบปัญหาในการปฏิบัติ อันเป็นการช่วยกันสร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม เพื่อรักษาความมั่นคง สร้างความสุขให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป
“ขอฝากประชาสัมพันธ์ ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่าง ๆ และแนวทางการป้องกัน ดังนี้ 1) หากถูกแก๊งทวงหนี้แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ หรือให้ความช่วยเหลือ 2) ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง และ 3) หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ นอกจากนี้หากพี่น้องประชาชนท่านใด พบเห็นเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สามารถแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่หรือสายด่วน 1599 ของศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) หรือสามารถแจ้งผ่านกลไก ผู้ใหญ่บ้าน กำนันในพื้นที่ หรือร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ผ่านสายด่วน 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายศุภศิษย์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1034/2566 วันที่ 1 พ.ย. 2566