เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งได้นิยามเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจน คือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง โดยในช่วงที่ผ่านมาได้พบสภาพปัญหาด้านการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนไม่มีเครื่องแบบชุดลูกเสือ เนตรนารี สวมใส่ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในชั้นเรียน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ผนึกกำลังกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และภาคีเครือข่าย สำรวจครอบครัวของนักเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนชุดลูกเสือ เนตรนารี และระดมสรรพกำลังจากทั้งภาคผู้นำศาสนา โดยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ และภาคเอกชนในพื้นที่ จัดหาชุดลูกเสือ เนตรนารีให้กับนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะยากจน โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ เพื่อให้นักเรียนได้มีชุดลูกเสือสวมใส่ ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการในภาพรวมพบว่า ในขณะนี้จังหวัดได้มีการบูรณาการภาคีเครือข่ายมอบชุดลูกเสือ เนตรนารี ให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายแล้ว จำนวน 33,166 ราย
“หากจะกล่าวถึงเรื่องของ “เครื่องแบบ” นั้น ย้อนไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “สมเด็จพระปิยมหาราช” ทรงเคยพระราชทานพระราชดำรัสใจความสำคัญว่า “การแต่งเครื่องแบบจะทำให้ลูกเจ้า ลูกนาย ลูกขุนนาง ลูกพ่อค้า ลูกตาสีตาสา ลูกชาวบ้าน มีความเหมือนกัน เพราะเป็นนักเรียนเหมือนกัน ถ้าไม่ให้แต่งเครื่องแบบก็จะใส่ไปตามฐานะของครอบครัว ที่คนนึงจะใส่กำไลทอง ทั้งข้อมือ ข้อเท้า และสร้อยทองที่คอ ใส่เสื้อผ้าที่หรูหรา กลายเป็นปมด้อยของเด็กก็จะเกิดขึ้น กลายเป็นความแปลกแยก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และที่สำคัญที่สุด “เครื่องแบบนักเรียนก็มีราคามาตรฐาน” ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเล็งเห็นความสำคัญที่จะฝึกกุลบุตร กุลธิดา ให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในทุกสถานการณ์ ก็จำเป็นต้องให้ฝึกลูกเสือ โดยแรกเริ่มก็คือลูกเสือหลวง กองเสือป่า ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีแนวพระราชดำริเฉกเช่นสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ” โดยทรงพระราชวินิจฉัยให้ชุดลูกเสือในสมัยนั้นเป็นเครื่องแบบ และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 พระองค์ได้พระราชทานกำเนิด “ลูกเสือไทย” ขึ้น เพราะทรงต้องการให้ลูกหลานไทยของเราได้รับการฝึกหัดให้รู้จักมีระเบียบมีวินัย มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นกำลังสำคัญของคนที่จะช่วยรักษาประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มีความวัฒนาถาวร ทำให้ประเทศชาติเรามีความเป็นเอกราชมาได้ โดยชุดลูกเสือของกองเสือป่าที่จัดตั้งครั้งแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนเก่าของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ นายชัพน์ บุนนาค เป็นผู้ที่แต่งชุดลูกเสือเป็นคนแรกมาให้ทอดพระเนตร และหลังจากนั้น ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็น “เครื่องแบบลูกเสือ” และร้านตัดเสื้อผ้าที่ตัดชุดลูกเสือเป็นร้านแรกของประเทศไทย คือ “ร้านวิวิธภูษาคาร” ถนนเฟื่องนคร ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นที่มาของเครื่องแบบลูกเสือที่พวกเราได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับจังหวัดที่ได้มีการสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ประสบปัญหาไม่มีเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารีให้บุตรหลานได้สวมใส่เพื่อเรียนวิชาลูกเสือ และดำเนินการส่งมอบชุดลูกเสือให้กับครอบครัวนักเรียนครบถ้วนแล้ว 28 จังหวัด โดย 5 อันดับแรก คือ 1) จังหวัดสมุทรปราการ 5,003 ราย 2) จังหวัดนครสวรรค์ 1,835 ราย 3) จังหวัดกำแพงเพชร 792 ราย 4) จังหวัดลพบุรี 792 ราย และ 5) จังหวัดนครราชสีมา 713 ราย และขณะนี้อีก 48 จังหวัด อยู่ระหว่างส่งมอบชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และดำเนินการช่วยเหลือเพื่อให้เด็กนักเรียน เยาวชน ลูกหลานของเราได้มีชุดลูกเสือ เนตรนารี ใช้เรียนรู้ทักษะชีวิตในระดับพื้นฐาน เช่น เรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ สามัคคี เสียสละ จิตอาสา การทำงานเป็นทีม ความรักชาติรักสถาบัน ศาสนพิธี การพูดรวมถึงภาวะผู้นำ ไปจนถึงทักษะชีวิตในระดับ Advance เช่น การปรุงอาหาร การปฐมพยาบาล การเข้าเฝือกเบื้องต้น การเอาตัวรอดในภาวะวิกฤต และอีกสารพัดทักษะชีวิต ที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเด็กนักเรียน รวมถึงสังคมและประเทศชาติ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยเรานั้น ถือว่าเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ดังหลักพุทธธรรม “สังคหวัตถุ 4” อันเป็นเครื่องมือ 4 ประการ ที่ช่วยประสานคนหมู่มากให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ก่อให้เกิดความผาสุกในบ้านเมืองและประเทศชาติ ได้แก่ “ทาน” คือ การให้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้สิ่งของที่มีแก่ผู้ที่ผู้ขาดแคลนเดือดร้อน “ปิยวาจา” คือ การพูดจา การบอกกล่าว สิ่งที่เป็นความจริง สิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้จักคำว่าขอบคุณ ขอโทษ “อัตถจริยา” คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น รู้จักการเสียสละ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ “สมานัตตตา” คือ การวางตัวให้เหมาะสม มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องมีผู้นำ ทุกวันนี้ การแก้ไขปัญหาเพียงแค่เสร็จ แต่ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น ผู้นำในพื้นที่ อันประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยทำให้เด็ก ทำให้ครอบครัวของเด็ก มีความสะดวกสบาย มีความเท่าเทียมกัน ในการที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียนในทุกแขนงวิชาที่อยากศึกษาเล่าเรียน มีเครื่องแบบที่เหมือนกับเพื่อนนักเรียนในชั้นเรียน “โดยเฉพาะวิชาลูกเสือ” ที่เป็นวิชาที่นอกจากจะทำให้ลูกหลานของเรามีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้ว จิตวิญญาณของลูกเสือยังเป็นจิตวิญญาณแห่งการช่วยเหลือผู้อื่น หรือจิตวิญญาณของจิตอาสาให้กับพี่น้องประชาชนและสังคม
“เรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ “ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องช่วยกันในการที่จะช่วยเสาะแสวงหาข้อมูล” และสร้างการรับรู้ไปยังครูบาอาจารย์ว่า หากพบว่ามีลูกศิษย์ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ได้แจ้งขอรับการสนับสนุนมายังท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นเด็กนักเรียนไม่มีเครื่องแบบสวมใส่เรียนหนังสือ หรือเรียนวิชาลูกเสือ สามารถแจ้งมายังศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ได้อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อร่วมด้วยช่วยกันแจ้งให้ฝ่ายบ้านเมืองได้มีข้อมูลและนำไปสู่การบูรณาการให้ความช่วยเหลือ และร่วมกันสร้างคนให้มี passion มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในตอนท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1039/2566 วันที่ 2 พ.ย. 2566