น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเดินทางกลับประเทศไทยของพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด พร้อมกับกำชับหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสนับสนุนให้พี่น้องแรงงานไทยเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย
โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 66 นายอนุทิน ได้มีข้อสั่งการให้มีการใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยทั้งจังหวัด อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา อาสาสมัคร และภาคีเครือข่าย ร่วมกันประสานทำความเข้าใจ ชี้แจงต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของแรงงานไทยในอิสราเอลให้ช่วยกันโน้มน้าวให้ผู้ไปทำงานในอิสราเอลได้ตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยเร็ว
ทั้งนี้ ข้อมูลกจากศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ควาไม่สงบในประเทศอิสราเอล แจ้งว่า ณ เวลา 7.30 น. ของ วันที่ 1 พ.ย. 66 มีพี่น้องแรงงานไทยเดินทางกลับจากอิสราเอลแล้ว 8,331 คน และยังคงอยู่ในอิสราเอล 21,535 คน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ได้มีข้อกำชับให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในทุกระดับที่ได้ประสานกับครอบครัวแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอิสราเอล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลได้อนุมัติเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานด้วย อาทิ มาตรการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 คือ โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) ที่ธนาคารออมสิน และ ธกส. จะปล่อยสินเชื่อแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลในวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท/ราย ระยะเวลาชำระคืนยาว 20 ปี ผู้กู้รับผิดชอบดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ส่วนอีก 2% รัฐบาลจะรับผิดชอบให้ รวมถึงมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานก่อนเสนอต่อ ครม. คือการมอบเงินช่วยเหลือแก่แรงงานไทยจากอิสราเอล 50,000 บาทต่อคน
รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิอื่น ๆ เช่น กรณีที่แรงงานได้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 66 เป็นต้นมา ขณะนี้กระทรวงแรงงานเปิดให้ยื่นคำร้องขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศจากเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศอิสราเอลได้แล้ว โดยกรณีส่วนกลางยื่นได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล บริเวณชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี กทม. กรณีของส่วนภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยเอกสารและหลักฐานการยื่นขอรับค่าใช้จ่าย ต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 66 เป็นต้นไป ประกอบด้วย 1.บอร์ดดิ้งพาส หรือตั๋วเครื่องบิน/ใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารการจ่ายเงิน 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.สำเนาหนังสือเดินทาง/เอกสารเดินทาง 4.สำเนาสมุดบัญชีธนาคารผู้รับบริการ โดยค่าใช้จ่ายที่เบิกกับรัฐบาลได้ จะเป็นเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเท่านั้น
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1040/2566 วันที่ 2 พ.ย. 2566