วันนี้ (21 พ.ย. 66) ที่กระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้อนรับนายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายอุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธาน และประธานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมด้วยคณะ โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สป.มท. และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยและสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การพูดคุยหารือครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจในการให้คำนิยาม SMEs ให้เป็นคำนิยามเดียวกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ วิสาหกิจรายย่อย วิสาหกิจขนาดย่อม และวิสาหกิจขนาดกลาง เป็นต้น และชี้แจงจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการ SMEs จากทุกภูมิภาค ข้อมูลผู้ประกอบการแต่ละคลัสเตอร์ อาทิ ภาคการค้า ภาคธุรกิจการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการบริการ ตลาดนัดคนไทยยิ้มได้ ตลาดนัดภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น จากนั้นได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เมื่อเปรียบเทียบกับ GDP และเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาของ SMEs ดังนี้ 1) มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 2) มาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุน SMEs และค่าครองชีพประชาชน 3) มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ SMEs และฟื้นฟูหนี้ NPL 4) มาตรการยกระดับขีดความสามารถ SMEs และภาคแรงงาน 5) มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ SMEs
“โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) หรือ กลุ่ม SMEs เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เข้าถึงประชาชนรากหญ้าจริง ๆ ตนจึงได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ขอให้เพิ่มเงื่อนไขในการแจกเงิน Digital Wallet โดยกำหนดให้ต้องใช้จ่ายเงินประมาณร้อยละ 30 เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของกลุ่ม OTOP หรือกลุ่ม SMEs เพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจไปทั่วทุกชุมชน ทุกตำบล ทั่วประเทศ” นายชาดาฯ กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1126/2566 วันที่ 21 พ.ย. 2566