วันนี้ (23 พ.ย. 66) นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดยะลามุ่งมั่นขับเคลื่อนบูรณาการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ดิน น้ำ สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมสืบสานประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น “จาโปตาแง ครอบครัวเมืองยะลา และชาวบันนังสาเรง สืบสานวิถีชาวนา ตามรอยวิถีพ่ออย่างพอเพียง” ณ จุด check in ฟินกลางทุ่ง ต.บันนังสาเรง อ.เมืองยะลา ซึ่งแสดงถึงความร่วมด้วยช่วยกันของประชาชนชาวมุสลิมซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาทำสวน มีรายได้หลักจากเกษตรกรรม ซึ่งอำเภอเมืองยะลามีพื้นที่การเกษตรโดยประมาณ 14,800 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 500 ไร่ ครอบคลุม 6 หมู่บ้าน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดอยู่ที่บ้านบันนังบูโย
นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น “จาโปตาแง ครอบครัวเมืองยะลาและชาวบันนังสาเรง สืบสานวิถีชาวนา ตามรอยวิถีพ่ออย่างพอเพียง” ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในชุมชน บูรณาการร่วมกับส่วนราชการและภาคีเครือข่าย สืบสานประเพณีไทย ส่งเสริมความรู้ทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม และมีกิจกรรมแข่งขันกีฬาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและนันทนาการ การแข่งขันห่อขนมต้มสามเหลี่ยม (ตูปะ) การดำนา การจับปลาไหล ซึ่งตนได้สาธิตการไถนาและดำนาร่วมกับประชาชนชาวบันนังสาเรง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านการทำนา รณรงค์และส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลบันนังสาเรง ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนเห็นคุณค่า และน้อมนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
“ตนได้มอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติชาวนาต้นแบบผู้สร้างสรรค์สังคม และเกียรติบัตรเยาวชนในการประกวดภาพวาดระบายสี ทุ่งนาสาเรงที่ฉันรัก เพื่อปลูกฝังประเพณีอันดีงามแก่เยาวชน สร้างความรักความสามัคคี และส่งเสริมการท่องเที่ยว นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง อันจะเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีเชิงเกษตร จะได้เป็นทุนทางทรัพยากรที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งเป็นการน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขยายผลให้เป็นรูปธรรม โดยแง่คิดที่สำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน คือ คนจะต้องมีความสุข มีความรักใคร่สามัคคีกันในชุมชน มีอาชีพที่สุจริต มีอยู่ มีกิน มีใช้ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลูกหลานได้รับการศึกษา ชุมชน/หมู่บ้านมีภูมิคุ้มกันต่อภัยทางสังคม และภัยธรรมชาติ บ้านเมืองมีความสะอาดเรียบร้อย มีการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนในทุกมิติต่อไป” นายอำพลฯ กล่าวในตอนท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1137/2566 วันที่ 23 พ.ย. 2566