เมื่อวันที่่ 23 พ.ย. 66 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมอาคารสํานักงานพื้นที่ชุ่มน้ำ บึงสีไฟ อําเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามและมอบแนวทางการพัฒนาบึงสีไฟ โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ครม. คณะที่ 57-59 นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร คนที่ 58 นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ว่าที่ร้อยตรี ขรรค์ไชย ทันธิมา ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอนุสรณ์ ศรีวงษ์ญาติดี ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชัยนาท นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of ESG & BSE บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายวิสุทธิ์ กสิยะพัท หัวหน้าผู้ฝึกสอนจักยานทีมชาติไทย นายฮาวี เครปส์ ผู้ฝึกสอนจักรยานทีมชาติไทย ประเภท BMX พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมฯ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่สาธารณะบึงสีไฟแห่งนี้ให้เหมาะแก่การเป็นพื้นที่สาธารณะของพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ได้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียั่งยืนสืบไป ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความกรุณาจาก พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดินทางมาร่วมหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบึงสีไฟ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เทศบาลเมืองพิจิตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ รวมไปถึงภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่พวกเราทุกคนได้มาร่วมประชุมในวันนี้ คือ การลงมติร่วมกันว่าจะดำเนินการพัฒนาบึงสีไฟ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อน บูรณาการภาคีเครือข่ายมาร่วมด้วยช่วยกัน สร้างพลังการมีส่วนร่วมของ “ทีมงาน” ทั้ง “ทีมที่เป็นทางการ” คือ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ บุคลากร ทั้งท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ “ทีมจิตอาสา” อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า “ต้องพัฒนาคน คือ พี่น้องประชาชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาบึงสีไฟ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 1. “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่จะมีการขยายพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสมาพักผ่อน ออกกำลังกาย ทำให้อารมณ์แจ่มใส โดยตนจะประสานขอรับการสนับสนุนจากอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาช่วยลงพื้นที่ควบคุมดูแลการพัฒนาพื้นที่ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เป็นผู้นำพาองคาพยพและภาคีเครือข่ายผู้ที่มีจิตอาสา มีความถนัดในทักษะเฉพาะ อาทิ ถ้ามีคนเก่งมัดเชือก เก่งเรื่องช่างไม้ เก่งการออกแบบ ก็เชิญมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำฐานเล่นของเด็ก มีเรือไวกิ้ง มีที่โล้ชิงช้า รวมถึงการมีพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” หรือ “อารยเกษตร” อันเป็นศัพท์บัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอรรถาธิบายถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีการจัดพื้นที่ครบทุกส่วน มีโคก มีหนอง มีนา มีพืชไร่ พืชสวน ผสมผสานทำให้เกิดความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์ และการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา มีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค มีการส่งเสริมการเรียนรู้ในการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน พร้อมด้วยการส่งเสริมให้มีการการคัดแยกขยะแบบปราณีต อาทิ ขวดน้ำพลาสติก ก็สามารถคัดแยกได้ โดยการแกะฉลาก แยกฝาน้ำดื่ม พร้อมพับขวด เพื่อช่วยกันประหยัดพลังงาน ลดการสิ้นเปลืองพลังงานในการกำจัดขยะ และต่อยอดสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ในด้านพฤกษศาสตร์” ที่จะมีองค์ความรู้ให้พี่น้องประชาชนตลอดจนถึงเด็ก เยาวชน ได้รู้จักการติดตา การตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด และในที่สุดจะกลายเป็นตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ ก่อเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน นำมาซึ่งรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต้องมีอุดมการณ์ Change for Good เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวทางการพัฒนารูปแบบที่ 2. คือ การสร้าง “สนามจักรยานขาไถ” เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้ออกกำลังกายด้วยการนำขาไปไถกับพื้น ซึ่งจะทำให้เด็กได้รู้จักพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการบังคับใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสร้างความสุขทางด้านจิตใจ สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน และการอยู่ร่วมกันของสถาบันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันที่เป็นรากฐานสำคัญในการหล่อหลอม ขัดเกลา และพัฒนาคนให้เติบโตเป็นสมาชิกในสังคมที่ดีในสังคม และรูปแบบที่ 3. คือ การจัดให้มีพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมจักรยานสำหรับเด็ก (BMX) และการแข่งขันจักรยานทางเรียบ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการประสานงานไปยังท่านพลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยดำเนินการขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับการออกแบบสนาม วางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน และการใช้งานแก่นักท่องเที่ยว นักกีฬา และประชาชน
“นอกจากนี้ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบึงสีไฟนี้ ขอให้ทางจังหวัดพิจิตรได้มีการน้อมนำพระราชดำริ เรื่อง การบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “น้ำคือชีวิต” มาขยายผลด้วยการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบระบบเปิด ด้วยการขุดหลุมไปแล้วนำหินดินดานนำไปใส่ไว้ เพื่อให้น้ำฝนเติมเข้าสู่ชั้นหินที่กักเก็บได้โดยตรง ไม่ไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งก็ใส่ชั้นหินที่มีความละเอียดพร้อมด้วยตาข่ายรวมกันไว้ เมื่อมีฝนตกลงมาก็จะมีน้ำซึมออกมาเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่โดยรอบของบึงสีไฟ ก่อเกิดเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน และในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดพิจิตรได้ร่วมเป็นเจ้าภาพและร่วมงาน “บึงสีไฟรับลมหนาว” บริเวณบึงสีไฟแห่งนี้ ซึ่งจะมีการจัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาทางเรียบ และจักรยานประเภทถนน ไทยแลนด์ โอเพ่น ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 2 – 3 ธ.ค. 66 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านกีฬา โดยทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 อีกทั้งเป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาส “วันพ่อแห่งชาติ” และวันชาติของไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จังหวัดพิจิตรมีความตั้งใจ ที่จะพัฒนาบึงสีไฟให้เป็น Landmark ของจังหวัดพิจิตร เพื่อจะให้มีนักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชนได้มาท่องเที่ยว มาแข่งขันกีฬา อันจะทำให้จังหวัดพิจิตรที่เดิมนั้นเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด ไม่ค่อยได้รับความสนใจได้พัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ทั้งนี้ จังหวัดพิจิตรมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟแห่งนี้ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นไปในแนวทางดังกล่าว โดยเริ่มมีร้านอาหารเกิดขึ้นมา มีรีสอร์ท มีบ้านพักโฮมสเตย์ มีที่พักผ่อนเพิ่มมากขึ้น และยังพบว่ามีพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอย และทางจังหวัดจะได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการจะได้มีเงินรายได้ในการดำรงชีวิตและทำให้ครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1138/2566 วันที่ 23 พ.ย. 2566