เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ที่ห้องประชุมดํารงธรรม ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการคุ้มครองเด็กของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมฯ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และมีหน้าที่หลักในการเสริมสร้างครอบครัวและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน โดยยึดถือมาโดยตลอดว่า “อนาคตของชาติอยู่ที่เด็กและเยาวชน” และต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้ใหญ่ได้ทำได้ขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนด้วย จึงเรียกได้ว่า เราดูแลประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่ “ก่อนครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน” อันหมายความว่า “ดูแลชีวิตของประชาชนตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์จนถึงเสียชีวิต” ซึ่งตนได้เน้นย้ำกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ผ่านการพูดคุยอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อการทำงานร่วมกัน เพราะตนเชื่อว่าทุกกระทรวงก็มีเป้าหมายเดียวกันกับ มท. คือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข”
“สำหรับแนวทางการคุ้มครองเด็กของ มท. เรายึดหลักว่า “เราต้องดูแลตั้งแต่ก่อนครรภ์” โดยนายทะเบียนซึ่งมีหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสของแต่ละอำเภอ/สำนักงานเขต ต้องเพิ่มเสริมองค์ความรู้ด้วยการแนะนำหลักการวางแผนการมีบุตรตามแนวทางและนโยบายของรัฐบาลในด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตร อาทิ การตรวจสุขภาพของคู่สมรส การฝากครรภ์ และเมื่อคลอดออกมาแล้ว บุตรก็ต้องก็ต้องได้รับนมแม่ตามหลักเกณฑ์ทางโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข มีโปรแกรมรับวัคซีนสำหรับเด็ก เมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้นก็ต้องมีพื้นที่ชุมชน มีบ้านเรือนที่สะอาด ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย อาทิ ยาเสพติด การพนัน รวมถึงอบายมุขอื่น ๆ ที่จะส่งผลทำให้เด็กคุ้นชินจนนึกว่าสิ่งแวดล้อมในลักษณะเช่นนั้นเป็นสิ่งปกติ และต่อมาเมื่อเด็กเข้าสู่เกณฑ์ของการเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กระทรวงมหาดไทยก็ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมพัฒนาการเด็ก คือ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งร่างกาย สมอง อารมณ์ จิตใจ วินัย จากการเล่น และมี “สนามจักรยานขาไถ” เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้ออกกำลังกายด้วยการนำขาไปไถกับพื้น ซึ่งจะทำให้เด็กได้รู้จักพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการบังคับใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และยังเป็นการสร้างความสุขทางด้านจิตใจ สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน และการอยู่ร่วมกันของสถาบันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่เป็นรากฐานสำคัญในการหล่อหลอม ขัดเกลา และพัฒนาคนให้เติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า มท. ตระหนักเสมอว่า “หน้าที่ในการพัฒนาเด็กถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” ต้องขับเคลื่อนและให้ความสำคัญ ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตนได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการส่งเสริมให้ทุกโรงเรียน ทุกสถานศึกษา นำ 3 วิชาที่สำคัญกับความเป็นชาติไทยกลับคืนมา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ซึมซับ หล่อหลอม ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยอันจะส่งผลถึงการหนุนเสริมความเป็นปึกแผ่นที่มั่นคงของชาติไทย คือ 1) วิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 2) วิชาหน้าที่พลเมือง และ 3) วิชาศีลธรรม โดยใช้ช่วงเวลาที่เป็นคาบว่างของนักเรียน หรือช่วงเวลากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมชุมนุม ชมรม ที่ว่างเว้นจากการเรียนในแต่ละวันที่มีอยู่เดิม ให้ได้ศึกษาบทเรียนใน 3 วิชาเหล่านี้ และไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการหนุนเสริมความรู้ความสามารถของเด็กและเยาวชนที่เริ่มมีการเรียนรู้และเริ่มดูแลตนเองได้ โดยใช้หลักการ “บวร : บ้าน วัด ราชการ” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของกระทรวงมหาดไทยและคณะสงฆ์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษาการขับเคลื่อนเพื่อทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนเป็นคนดี ผ่านการส่งเสริมการจัดระเบียบสังคม การดูแลคนที่เดือดร้อน และดูแลสมาชิกในครอบครัว ทั้งเด็ก พ่อ แม่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึง MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม มุ่งหนุนเสริมทำให้เด็กได้เข้าวัดควบคู่การตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลบ้านเรือน มีการใช้หลัก 5 ส ในการรักษาความสะอาด และ MOU โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นหลักชัย ร่วมกับผู้นำศาสนาทุกศาสนา ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ในศีลในธรรมตามศาสนาที่นับถือ หรือเรียกว่า “หมู่บ้านศีลธรรม” คือ การตั้งมั่นอยู่ในความดี
“มท. ให้ความสำคัญกับการดูแลคนทุกช่วงวัยที่มีสภาพปัญหาความเดือดร้อนให้ได้รับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งกรมการปกครองกำลังดำเนินการ Re X-Ray ข้อมูลการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยแพลตฟอร์ม ThaiQM โดยได้นิยามคำว่า “ยากจน” คือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการเก็บข้อมูลครัวเรือนได้มากถึง 14,562,655 ล้านครัวเรือน ทำให้ได้พบครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน 3,810,466 ครัวเรือน และได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 3,614,409 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 94.85 และในขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอีก 6 ล้านกว่าครัวเรือนในเขตของเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทุกครัวเรือนภายในประเทศ โดยยึดหลักว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)” อันเป็นแนวทางที่สำคัญในการหนุนเสริมการดูแลเด็กอีกด้วย นอกจากนี้ กรม/รัฐวิสาหกิจในสังกัดก็ได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและหนุนเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน อาทิ “กรมการพัฒนาชุมชน” ซึ่งได้ริเริ่มให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งขณะนี้เป็นเวลา 54 ปีแล้ว ที่เราได้ช่วยกันทำให้เด็กมีสุขภาพพลามัยที่สมบูรณ์ ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กให้เข้าสู่การเรียนรู้ในระดับชั้นอนุบาล ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการส่งเสริมให้มีการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” พร้อมทั้งขับเคลื่อนหนุนเสริมในการติดตามดูแลเด็กในกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์ฯ ขณะที่ “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ก็ได้จัดฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการทำหน้าที่ด้านการเผชิญเหตุด้านสาธารณภัยประจำโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียน “กรมที่ดิน” มีการฝึกอบรมให้กับเจ้าพนักงานที่ดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมของผู้เยาว์ และ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานของเครื่องเล่นในส่วนของสวนสนุก สวนน้ำ พร้อมดูแลความปลอดภัยให้กับเด็ก “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ได้จัดสวัสดิการให้กับบุคลากร โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ดูแลเด็กภายในที่ทำงาน” ทำให้ผู้ปกครอง พ่อ แม่ สามารถแวะเวียนไปดูแลลูกหลานได้ ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจที่ตนอยากจะให้มีการขับเคลื่อนขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้เด็กได้มีผู้ดูแลในช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำหน้าที่การงาน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่ มท. พุ่งเป้าขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนนี้ ได้ถูกประมวลสรุปรวมอยู่ในแนวทางการพัฒนา “หมู่บ้านยังยืน (Sustainable Village)” เพราะจุดแตกหักของการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทุกช่วงวัยอยู่ที่ “หมู่บ้าน” เราจึงต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ และการส่งเสริมแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อยกระดับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ครบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในปี 2567 โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ ประชาชนทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดย “เด็ก” คือ อนาคตของประเทศชาติ แต่อนาคตของประเทศชาติจะมั่นคงและอยู่อย่างมีความสุขได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนและเป็นผู้นำที่ดีในการใช้ชีวิตเพื่อให้เด็กและเยาวชน ลูก หลาน เห็นเป็นแบบอย่างและทำตาม อันจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ด้าน นางอภิญญา ชมพูมาศ อธิบดี ดย. กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และขอชื่นชมพร้อมทั้งหนุนเสริมบทบาทที่สำคัญยิ่งปรากฏดังเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเป็นอย่างมากในการดูแลเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งในรายละเอียดจะได้ประสานความร่วมมือขั้นต่อไป ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ ด้วยกลไกหลักของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สามารถเกื้อหนุนช่วยเหลือหนุนนำทำให้พื้นที่ของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านและชุมชน ซึ่งไม่มีบุคลากรของ ดย. ในพื้นที่ สามารถขับเคลื่อนไปได้ ด้วยแนวทางของท่านปลัด มท. ที่มุ่งเน้นการ “บูรณาการร่วมกันผลักดันแนวทางและแผนยุทธศาสตร์” รวมถึง MOU แนวทางการคุ้มครองเด็ก อาทิ การลดความรุนแรงในครอบครัว การมีที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัย เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในระบบการคุ้มครองเด็ก การนำเสนอความคิดเห็นที่ให้เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงการสงเคราะห์เด็กในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด รวมถึงสถานสงเคราะห์อื่น ๆ ในพื้นที่ โดยบทบาทหน้าที่ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากองคาพยพ มท. ในระดับพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้เด็กในสถานสงเคราะห์ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดี มีครอบครัวที่ดี และยิ่งท่านปลัด มท. ได้ให้แนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้ “หมู่บ้านเป็นฐาน” ยิ่งทำให้ตนมั่นใจว่า คุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนจะดีได้ด้วย “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพราะหมู่บ้านยั่งยืนจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของ “เด็ก” เพราะเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ชุมชนและหมู่บ้านยั่งยืน “เด็กก็จะได้รับสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน”” นางอภิญญาฯ กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1155/2566 วันที่ 27 พ.ย. 2566