วันนี้ (28 พ.ย. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องรับรอง 3 ทำเนียบองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธีเชิญหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทานมอบแก่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 9,416 เล่ม โดยมี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นายจรัลธาดา กรรณสูต นายอำพน กิตติอำพน รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ นายธงทอง จันทรางศุ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ นายสมคิด จันทมฤก นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมในพิธี
โอกาสนี้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายธูปเทียนแพถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเชิญหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน วางบนพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ารับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จัดพิธีมอบหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทานแก่ปลัดกระทรวงมหาดไทยเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อเชิญไปมอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด จำนวน 9,416 เล่ม จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้เชิญไปมอบให้แก่สถานศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อไป
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ที่แตกต่างกันตามหมวดสาขาวิชาต่าง ๆ ให้นักวิชาการ ผู้รู้ ช่วยกันเรียบเรียงในภาษาที่ง่าย เผยแพร่ไปสู่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ในทุกจังหวัด ทำให้ทั้งผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ เด็ก และเยาวชน ได้มีโอกาสในการที่จะแสวงหาองค์ความรู้ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการที่จะทำให้เด็กสามารถเติบใหญ่ และทำให้ผู้ใหญ่สามารถแนะนำลูกหลาน ให้มีความรู้และความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำสารานุกรมในรูปแบบ E-Book ด้วย อันจะยิ่งทำให้สามารถทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ในสารานุกรมสามารถแพร่กระจายไปสู่ประชาชนทุกวัยได้โดยง่าย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานให้กับพวกเราชาวไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า หนังสือชุดสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์จะให้มีหนังสือที่จะรวบรวมความรู้แขนงต่าง ๆ สำหรับพสกนิกรได้มีโอกาสอ่านและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินการในปีพุทธศักราช 2511 โดย พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ รับสนองพระราชประสงค์เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยได้รับพระราชทานเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นทุนในการจัดทำและได้ดำเนินงานมาจนถึงพุทธศักราช 2562 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เปลี่ยนสถานะเป็นมูลนิธิ โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เงินและทรัพย์สินของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เป็นทุนเริ่มแรก ในการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ที่ปรึกษา และมีนายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ
“สำหรับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทานเล่มนี้ มีสาระที่น่าสนใจรวม 8 เรื่อง ได้แก่ 1. ประเพณีสิบสองเดือน มีเนื้อหาว่าด้วยงานประเพณีต่าง ๆ ในวิถีไทยที่มีขึ้นประจำเดือนต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต คติความเชื่อ และจิตใจอันดีงามของคนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เช่น เทศกาลสงกรานต์ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีทอดกฐินและผ้าป่า 2. ชาวมอญในประเทศไทย มีเนื้อหาว่าด้วยมอญ ซึ่งเป็นชนชาติเก่าแก่แต่โบราณ บางส่วนยังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา และชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่มีชุมชนมอญกระจายอยู่มากถึง 37 จังหวัด โดยชาวมอญสามารถอยู่ร่วมกับชาวไทยได้เป็นอย่างดี ขณะที่ชาวมอญเหล่านั้นยังคงรักษาธรรมเนียมประเพณีความเชื่อของชนชาติไว้ได้ ทำให้สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ให้ปรากฏแม้จนปัจจุบัน 3. การศึกษาแบบวิถีไทย มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการศึกษาตามทัศนะและวิธีการของไทย ที่เน้นการเล่าเรียนซึ่งกลมกลืนไปกับวิถีชีวิต วิถีทางศาสนา และวิถีทางวัฒนธรรม การศึกษา มีทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และระบบโรงเรียนทำงานประสานสอดคล้องกัน การศึกษาแบบวิถีไทยจึงเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตที่เจริญและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสอดคล้องกับกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม 4. กัญชงและกัญชา พืชทั้งสองอย่างเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว และอยู่คู่กับมนุษย์มานานหลายพันปีแล้ว ในปัจจุบันกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม กระดาษ อาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ขณะที่กัญชาซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกัน นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคหรือใช้ในการป้องกันบำบัดโรคเบื้องต้น แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐ 5. การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีขา ลำตัวยาวเป็นปล้อง มีทั้งชนิดที่อยู่ผิวหน้าดินและชนิดที่ชุดรูอยู่ใต้ดิน เมื่อไส้เดือนดินกินเศษผักผลไม้จะถ่ายมูลออกมาผสมลงไปในดินทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินจึงมีประโยชน์ทั้งในด้านการกำจัดเศษวัสดุอินทรีย์ ช่วยลดปริมาณขยะ และทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดีเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีราคาแพงด้วย 6. การบริหารจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทางหนึ่งที่ทุกคนจะสามารถช่วยเหลือชุมชนของตนเองให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี คือ การช่วยกันดูแลรักษา หาแนวทางในการจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน และน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่อง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ปรัชญา” เศรษฐกิจพอเพียง” รวมทั้งแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ประโยชน์ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน 7. ดาราจักร ศัพท์ภาษาไทยของคำว่า Galaxy หมายถึงระบบขนาดใหญ่ของดาวฤกษ์จำนวนหลายพันล้านถึงหลายแสนล้านดวงที่รวมกันอยู่ จนเกิดเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น ดาราจักรของเรามีชื่อว่าดาราจักรทางช้างเผือก เพราะดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบของดาราจักรนี้ปรากฏอยู่ในบริเวณท้องฟ้าที่เรียกว่า ทางช้างเผือก ดาราจักรประกอบด้วยดาวฤกษ์ เทหวัตถุ ที่อยู่ระหว่างดาวฤกษ์ หลุมดำมวลยวดยิ่งซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของดาราจักร และสสารมืดที่อยู่รอบนอกของดาราจักร และ 8. โรคหลอดเลือดสมอง สมองซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงการทำงานอยู่เสมอ โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะเป็นอาการตีบ ตัน หรือแตก ล้วนทำให้สมองทำงานผิดไปจากปกติ และถ้ามีความรุนแรงมากก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ การรู้จักวิธีสังเกตอาการและการป้องกันสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น การเลิกสูบบุรี และการรับประทานอาหารที่ถูกต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จึงช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1156/2566 วันที่ 28 พ.ย. 2566