วันนี้ (18 ม.ค. 67) นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย นางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ บ้านโนนสังข์ หมู่ที่ 4 ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าฯ นครพนม กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน คือ “ผู้นำ” ที่จะต้องมี “ใจ” ในการมุ่งมั่น ทุ่มเท การเป็นผู้นำมิได้หมายความเพียงแต่ท่านนายอำเภอ แต่หมายความรวมถึงทุกคน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ชรบ. อส. และทุกคน เป็น “ผู้นำ” แทบทั้งสิ้น เพื่อที่จะทำให้หมู่บ้านของพวกเราทุกคน เป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนมีความรักใคร่ ความเอ็นดู ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยกันสร้างสิ่งที่ดี อาทิ การอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืนจะต้องมีการสร้างปัจจัยพื้นฐาน คือ การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เพื่อสามารถ “พึ่งพาตนเอง” และเมื่อมีเพียงพอก็สามารถแจกจ่ายแบ่งปันให้กับเพื่อนสมาชิกในชุมชนอีกด้วย ตามหลักคิดบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง จึงขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันปลุกพลังแห่งการเป็น “ผู้นำ” ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์เพื่อช่วยกันดูแลรักษาชุมชนหมู่บ้านของพวกเรา “สร้างระบบ” ในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนให้ดี มีพืชผักสมุนไพรกิน และเป็นชุมชนที่มีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รักษาความสะอาด ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยกันปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชคลุมดิน ไม่จุดไฟวัสดุการเกษตร เพื่อป้องกันไฟป่า ลดมลพิษทางอากาศ
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน” ของจังหวัดนครพนม ได้กำหนดแนวทางเริ่มดำเนินการตั้งแต่ในระดับ คุ้มบ้าน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านกลไกการดูแลกันในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันที่เรียกว่า ระบบคุ้มบ้าน หรือหย่อมบ้าน หรือป๊อกบ้าน ซึ่งอาจมีการรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 8-12 ครัวเรือนต่อคุ้ม/หย่อม/ป๊อก ร่วมกันช่วยเหลือดูแลพึ่งพาอาศัย กันอย่างทั่วถึง โดยมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และทีมของนายอำเภอ หมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจให้คำแนะนำ coaching กระตุ้นปลุกไฟในหัวใจ สร้างกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนงาน ดูแล ความเป็นอยู่ ของประชาชนในพื้นที่ นำการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดี “Change for Good”
“การทำให้ในพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความสุขหรือหมู่บ้านยั่งยืนนั้นจะต้องทำให้เป็นพื้นที่แห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย อันจะทำให้เกิดสังคมที่ผู้คนมีแต่ความรักใคร่ และเป็นสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบการเป็น “หมู่บ้านยั่งยืนเฉลิมพระเกียรติฯ” ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม เสริมสร้างแนวทางการพึ่งพาตนเองของประชาชนในหมู่บ้าน สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน และยังพัฒนาให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนได้พัฒนาไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ในการดำรงชีวิตที่มั่นคงและส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day) ของกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งสร้างการรับรู้ตามแนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” เพื่อให้เกิดการจัดการและอนุรักษ์ดิน และน้ำ ทรัพยากรสำคัญของชีวิต ทำให้สังคม ชุมชน และโลกของเรามีแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย” นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 91/2567 วันที่ 18 ม.ค. 2567