วันนี้ (18 ม.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ต.สาริกา อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบวุฒิบัตรและกล่าวโอวาทให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 2 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ ดร.ลักษิกา เจริญศรี ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นางสาวจิรวดี บรรพบุตร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครนายก ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน และผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ได้แก่ นายศราวุธ สุวรรณจูฑะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายอิสรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเมืองนครนายก พร้อมด้วยข้าราชการ ภาคเอกชน ครู นักวิชาการ นักพัฒนาชุมชน สภาวัฒนธรรม และประชาชนผู้สนใจจากจังหวัดนครนายก กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ จำนวน 118 คน ร่วมพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอบคุณผู้เข้ารับฝึกการอบรมของทุกท่านที่เป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษชาติไทย ท่านเป็นความหวังของประเทศชาติในการสร้างความรักความสามัคคี ความสำนึก และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่นี้ทุกท่านได้เป็นผู้เข้ารับการพิสูจน์ตนแล้วว่า จะเป็นผู้สร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติของเรา ตนขอแสดงความยินดีกับทั้ง 118 ท่าน ที่ผ่านการทดสอบและได้รับวุฒิบัตรพร้อมกับหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นเครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมที่จะแสดงให้คนที่พบเห็นและเตือนจิตเตือนใจของตัวพวกเราเองว่า เรามีหน้าที่อยู่บนบ่าทั้งสองข้างของพวกเรา
“ขอให้ทุกท่านได้นำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดยังสภากาแฟ ที่ประชุม หน้าเสาธงหรือในห้องเรียน หรือในหมู่บ้านของเรา ให้พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านของเราได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ประจำท้องถิ่น ด้วยการนำเสาหลักอันประกอบไปด้วยชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งในห้องและนอกห้องที่ต้องไปช่วยกันทำให้มี “ครู ข” ผู้ที่มีจิตอาสาเกิดขึ้น เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายเป็นวงกว้างไปยัง 7,255 ตำบล 80,000 กว่าหมู่บ้าน ดังนั้น ”ครู ก“ คือ ความหวังในการที่จะทำให้สังคมไม่ลืมประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ลืมพระคุณของบรรพบุรุษของแผ่นดินไทย เหมือนดังที่วันนี้ผู้เข้าอบรมทุกท่านได้ถวายสัตย์ต่อดวงพระวิญญาณขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตรงกับวันกองทัพไทย ดังนั้น ความหวังและเป้าหมายจะสำเร็จได้ก็ต้องขอฝากพี่น้องทุกคนในที่แห่งนี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับความสำเร็จของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครู ก ของรุ่นที่ 1 ที่ตนได้รับทราบมา พบว่าในแต่ละพื้นที่ได้มีการขับเคลื่อนแล้ว อาทิ ที่จันทบุรีก็จะมีการเปิดการสอนโดยใช้บ้านของครู ก เป็นสถานที่สอน หรือบางท่านที่เป็นคุณครูก็ทำหน้าที่ในการสอนนักเรียนหน้าเสาธงเด็กก็ได้รับฟังประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งในส่วนนี้คือความสำเร็จของรุ่นที่ 1 ที่ตนได้รับทราบ แต่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่แท้จริง คือ การที่ผู้คนในสังคมได้รับรู้รับทราบเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ กระทรวงมหาดไทยมุ่งหวังและมีความตั้งใจมากที่สุด
“กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สั่งการให้โรงเรียนในกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำเอาชั่วโมงที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มาให้วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาศีลธรรม ซึ่งมีอยู่ 5 ชั่วโมงในแต่ละอาทิตย์ ได้แบ่งให้วันละชั่วโมง โดยให้แบ่งประมาณ 3 วิชา สำหรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาศีลธรรม ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ก็ควรจะได้มีการสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกมารยาทในสังคมไทย รู้จักการไหว้ รู้จักการขอบคุณ รู้จักการกราบ รู้จักการสวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ พูดจาด้วยความไพเราะ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ต่อผู้ใหญ่ นี่ก็เป็นสิ่งที่เรามุ่งหวัง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ครู ก หรือผู้ผ่านการฝึกอบรมในวันนี้ได้ช่วยกันไปนั่งคุยกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ช่วยกันจัดโปรแกรมวางระบบเป็นคุ้ม ประมาณ 10 ถึง 15 หลังคาเรือน เป็นหนึ่งคุ้ม มีครู ก ครู ข ตระเวนพูดคุยทีละคุ้มในช่วงตอนเย็นหรือช่วงเวลาว่าง ซึ่งตนอยากเห็นภาพนั้นเกิดขึ้น ช่วยทำให้ 3 เสาหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปักหลักอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยเพิ่มมากขึ้น เกิดการวางแผนสำหรับการจัดกิจกรรม ซึ่งครู ก จิตอาสา ทุกคนสามารถไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดที่จังหวัดที่ท่านพำนักอาศัยอยู่ได้เลย ซึ่งจะมีท่านนายอำเภอทุกคนมาร่วมประชุมด้วย ตามที่ตนได้สั่งการท่านผู้ว่าฯ ไปแล้ว ให้ผู้ว่าฯ ได้พูดคุยกับครู ก และวางแผนในการสนับสนุนให้ครู ก ได้มีโอกาสในการทำหน้าที่ของคนไทยที่มีเลือดรักแผ่นดิน ได้ทำหน้าที่ตามที่เราตั้งใจและมุ่งหวังไว้
“ขอให้ช่วยกันส่งต่อสิ่งที่ดีงามให้กับลูกหลานของเรา พี่น้องประชาชนมีความรักความสามัคคี มิใช่ส่งต่อสิ่งที่มีความแตกแยก ช่วยกันสอนให้ลูกหลานมีความรู้ ความรัก ความกตัญญูกตเวที อันจะเป็นรากฐานที่จะทำให้เมื่อเติบใหญ่ ประกอบอาชีพการงานแล้ว สามารถตอบแทนคุณแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเราได้ในทางสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น หน้าที่นี้ คือ หน้าที่อันหนักหนา ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการที่จะช่วยกันธำรงรักษาจิตใจของคนไทยให้เป็นจิตใจของคนไทยผู้มีความจงรักภักดีหวงแหนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ช่วยกันสนองพระราชปณิธานด้วยการทำให้ผู้คนในสังคมได้ใช้เวลาเปิดสมอง เปิดจิตใจ รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อพวกเราทุกคนจะได้ร่วมกันภาคภูมิใจ และปฏิบัติบูชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่คนมหาดไทยได้ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายตั้งใจทำให้เป็นปีแห่งการเฉลิมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดี ทำให้คนไทยรักในผืนแผ่นดินไทย ทำให้คนไทยซาบซึ้งถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ และจะส่งผลให้คนมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษไทย อันจะส่งผลให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในตอนท้าย
ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอด ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หลักสูตร ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ชาติไทย จำนวน 18 รุ่น รุ่นละ 5 วัน ระหว่างวันที่ 8 มกราคม ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น จำนวน 2190 คน การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการบรรยายให้ความรู้ทางวิชาการ การเสวนาแลกเปลี่ยน ตลอดจนการทดสอบเพื่อวัดมาตรฐานของผู้เข้ารับการอบรม โดยคณะวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็น ผ่านกิจกรรมการระดมสมอง การฝึกปฏิบัติ และการนำเสนอ โดยในครั้งนี้เป็นการอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น รุ่นที่ 2 มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 119 คน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดชัยนาท จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน เพศชาย จำนวน 62 คน เพศหญิง จำนวน 58 คน ผู้มีอายุสูงสุด คือ 74 ปี และอายุน้อยที่สุด คือ 23 ปี โดยมี ผู้ผ่านการอบรมและได้รับวุฒิบัตร จำนวน 118 คน
“ในการอบรมครั้งนี้ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้ใช้วิธีการบรรยายของสร้อยสังวาลแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากนี้การอบรมในครั้งนี้ยังมีหัวข้อพิเศษ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 และการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผ่านพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ในเนื้อหาประวัติศาสตร์ชาติไทยจากวิทยากรแล้ว ยังมีการฝึกทักษะในหัวข้อของแต่ละตอน โดยมีผู้ช่วยวิทยากรสอบวัดมาตรฐานเป็นการประเมินผลการเรียน การถ่ายทอด และการสื่อสาร ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจ ให้ความสำคัญปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขและความมั่งคั่งของประเทศ ตลอดจนให้ประชาชนได้เข้าถึงหลักการทรงงาน พระราชกรณียกิจ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในการบริหารประเทศ และการดำเนินชีวิตประจำวัน” ร้อยตรี สรมงคลฯ กล่าวเพิ่มเติม
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 92/2567 วันที่ 18 ม.ค. 2567