เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 1 พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Carbon Neutral Event ระหว่างวันที่ 18 – 19 มกราคม 2567 ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางสาวปภัสรา ศรีทอง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี นางสุกุมล คุณปลื้ม ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดชลบุรี คณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกจาก 25 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว รวม 373 คน ร่วมกิจกรรม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ สมาคมแม่บ้านมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานเพื่อส่งเสริมบทบาทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ด้วยความมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญ ทั้งในมิติการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย การดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ยังผลให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ในปี 2567 นี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดยส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวในทุกครัวเรือน ซึ่งได้ร่วมกันขับเคลื่อนเป็นเวลา 3 ปี พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ ซึ่งมีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายแล้วครบถ้วน 100% ส่งผลให้สามารถลดรายจ่ายครัวเรือน ทั้ง 14.5 ล้านครัวเรือน ได้กว่า 550,000 ล้านบาท คิดจากรายครัวเรือนที่สามารถลดรายจ่ายได้ 100 บาทต่อ 3 มื้อ นอกจากนี้ ประชาชนที่ร่วมโครงการยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษไปบริโภครับประทาน ทำให้มีความสุขทั้งกายเเละใจ และยังได้ขยายผลโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ควบคู่กันไปด้วย โดยเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ทุกหมู่บ้านจะมีเส้นทางสาธารณะที่จะปลูกพืชผัก ผลไม้ที่คนในชุมชนสามารถมาร่วมกันเก็บไปจำหน่ายหรือบริโภคได้ด้วย ซึ่งเป้าหมายในการขับเคลื่อนนี้ คือ การส่งเสริมให้มีคนปลูกและการรักษาให้มีการปลูกอย่างต่อเนื่อง สร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่มีเเต่คนเก็บ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ ทุกคนเห็นตรงกันว่าผักผลไม้ที่ได้จากทั้งสองโครงการนี้ มีคุณภาพเป็นอย่างยิ่ง และต้องการที่จะส่งเสริมโครงการให้ยั่งยืน และขยายผลต่อ ๆ ไป” ดร.วันดีฯ กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกิจกรรมที่ 2) คือ การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใสให้สนุก” มาส่งเสริมและขยายผลเพื่อยกระดับผ้าไทยไปสู่สากล อันเป็นการต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสร้างการเปลี่ยนเเปลงผ้าไทย ด้วยการใช้สีธรรมชาติที่สวยงาม ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้สวมใส่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังพระดำริ “Sustainable Fashion” รวมถึงได้มีการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปี มียอดขายผ้าไทยรวมกว่า 5,500 ล้านบาท 3) โครงการ “ครอบครัวมหาดไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เป็นการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการจัดทำธนาคารขยะ ซึ่งผู้คนในสังคมล้วนสร้างขยะเปียกเเละขยะแห้งขึ้น ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ดำเนินโครงการนี้เพื่อส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชนคัดแยกขยะเปียกจากขยะทั่วไป โดยขยะเปียกที่ผ่านการคัดแยกจะถูกนำไปทำปุ๋ยหมักหรืออาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ ส่วนขยะแห้งจะถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 4) โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต ซึ่งมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่ได้มีการจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ยากไร้มากที่สุด เช่น การพิจารณาคัดเลือกเยาวชนที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้านการศึกษา ครอบครัวมีฐานะยากจน ยากไร้ หรือด้อยโอกาส แต่มีความประพฤติดี และมีความตั้งใจเล่าเรียน เข้ารับทุน “มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ” ในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา และ 5) แนวทางการสนับสนุนกิจกรรมของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้เป็นแหล่งทุนที่สำคัญของสตรีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลให้สตรีมีความมั่นคงด้านรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีบทบาทนำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในชุมชน
ต่อมา เวลา 17.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาและกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานของแม่บ้านมหาดไทยและชาวมหาดไทย โดยกล่าวว่า ขอให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยในทุกจังหวัด ได้เป็นผู้ช่วยเหลือท่านผู้ว่าฯ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขนั้น ต้องการให้ผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อ โดยข้อที่ต้องให้ความสำคัญมากสุด คือ Partnership โดยท่านแม่บ้านมหาดไทยต้องช่วยกันให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมีทีมที่ดีให้ได้โดยมี “โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่วางไว้เป็นเป้าหมายของเรา พร้อมกับการปฏิบัติตามพระราชปณิธานที่แน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อยากเห็น “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” เพราะฉะนั้นการที่ประเทศชาติจะมั่นคงและมีความสุขได้ แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดต้องช่วยกันทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมี “ทีมงานที่ดี” เพราะถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยแต่ละจังหวัด บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบไม่มีการสร้างทีม หากท่านมีการย้ายหรือเกษียณสิ่งที่ท่านทำอาจจะไม่มีคนทำต่อ แต่ถ้าหากท่านสร้างทีมเอาไว้ในพื้นที่ได้ด้วยการรวบรวมเอาผู้ที่มีจิตอาสามีความเสียสละทุกภาคส่วน พร้อมทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบไปด้วย ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน ก็จะนำมารวมกันเป็นทีม เพื่อให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สมกับการเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“เพราะฉะนั้นการที่จะรวมตัวกลุ่มคนที่มีจิตอาสา สามารถทำได้ 4 อย่าง ผ่านการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ มีการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ ตามกระบวนการของแนวทางการทำงานโครงการในพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักชัยในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ก็จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” พร้อมกับสร้างสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านด้วย “หมู่บ้านยั่งยืน Sustainable Village” โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มีการส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ให้มีไข่ไว้รับประทานในครัวเรือน ซึ่งจะสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day) ตามแนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทรัพยากรน้ำและดิน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นส่วนสำคัญของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 94/2567 วันที่ 18 ม.ค. 2567