เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พร้อมบรรยายในหัวข้อ การเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอ ในพื้นที่ภาคกลาง จาก 25 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมการประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายสำคัญ คือ ผู้ว่าฯ CEO ซึ่งมีการบริหารงานที่เน้นการบูรณาการเชิงพื้นที่ในรูปแบบของการกระจายอำนาจ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานของแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด เพื่อสร้างโอกาสและสร้างประโยชน์โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการปัญหาทุจริต และประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีข้อเสนอการกระจายอำนาจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด และมีหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของจังหวัด โดยการเชื่อมแผนชุมชน ตำบล อำเภอ ให้เข้ากับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ให้บริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการอย่างแท้จริง โดยการปรับปรุงระบบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลและติดตามกระบวนการดำเนินการตามแผน และสร้างเอกภาพการจัดทำงบประมาณและการบริหารงานบุคคลจังหวัด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่สำคัญในเชิงระบบ คือ พวกเราทุกคน ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค ระดับจังหวัด อำเภอ และในพื้นที่ต้องช่วยกันตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตที่เหลืออยู่ของพวกเรา อยากจะ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ อะไรไว้ให้กับแผ่นดิน” ซึ่งในฐานะคนมหาดไทยสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ต้น คือ ภาวะความเป็นผู้นำ พวกเราชาวมหาดไทยเป็นราชสีห์ เป็นผู้นำตามกฎหมาย และในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขพี่น้องประชาชน หากผู้นำน้อมนำหลักทศพิธราชธรรมหรือหลักธรรมของผู้ปกครองที่ดีมาใช้จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันฝ่ายปกครอง ปัจจุบันนี้รัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องการปรับบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็น ผู้ว่า CEO ซึ่งทางสำนักงาน กพร. มีความเห็นว่า ควรปรับบทบาทสู่จังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance Provinces) หรือ จังหวัด HPP ที่เป็นรูปแบบการบริหารราชการของจังหวัดที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสานพลังกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เรื่องเหล่านี้ต้องคุยกันตรง ๆ เราอยากเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง หรือรอให้เขาเปลี่ยนแปลงเรา สถานการณ์ปัจจุบันกับบทบาทภาระหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นอยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ว่า CEO ก็ได้ เป็นแค่ผู้จัดการทั่วไปก็เพียงพอ แต่การที่ผมเกริ่นมาอย่างนี้ อยากให้ทุกท่านรวมถึงตัวผมเองได้ตระหนักว่าตั้งแต่บรรจุรับราชการมา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2531 ซึ่งสอบบรรจุแข่งขันได้ลำดับที่ 99 ในตำแหน่งปลัดอำเภอ ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นรุ่นที่ 2 อยู่ที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง พวกเราไม่มีระบบในการเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นนายอำเภอ แต่ได้รับกระบวนการหล่อหลอมฝึกอบรมจากประสบการณ์เชิงพื้นที่ ทำให้สามารถเป็น ผู้รักษาราชการแทน ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับบัญชา และมีความกล้าตัดสินใจในการขับเคลื่อนภารกิจและนโยบายของรัฐบาล กล่าวคือ ทุกท่านจำเป็นต้องใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนตามหลักคำสอนที่ว่า “วิสฺสาสปรมา ญาติ ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” ในการที่จะพูดคุย ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับประโยชน์ เป็นผู้นำต้นแบบที่ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” เป็นตัวอย่างให้ผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคลากรของกระทรวงมหาดไทย ส่วนตัวผมชื่นชมการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ท่านลงไปที่หมู่บ้านลงไปที่ตำบล ท่านจะเป็นครูที่ดีของบุคลากรของกระทรวงมหาดไทยได้
“ในเมื่อนายกฯ อยากให้เราเป็นผู้ว่า CEO กฎระเบียบ และสิ่งต่าง ๆ อยู่ระหว่างขับเคลื่อน ตนอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกท่านจากการได้รับคำแนะนำจากท่านวิชัย ศรีขวัญ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านเป็นคนมหาดไทยที่ยังมีหัวใจ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่สำคัญท่านเคยเป็นผู้ว่า CEO จังหวัดชัยนาท สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ชาวนาที่ จ.ชัยนาท จำนวนหนึ่ง ขายข้าวได้ตันละเป็นแสน ซึ่งเกิดจากการทำงานเป็นทีมบูรณาการ การทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำให้ท่านได้รู้ว่าเมล็ดที่ปลูก ที่เรียกว่าข้าวพันธุ์นั้นมีราคาแพง แต่ชาวนาทั่วประเทศไม่มีใครปลูก ซึ่งการทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ต้องมีกระบวนการแบบแผน ขั้นตอน เเละวิธีการที่เหมาะสมต่อการเติบโตของต้นข้าว รวมถึงการดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างดี บทเรียนนี้เป็นปฐมบทของการปรับบทบาทของพวกเราชาวมหาดไทยที่ว่า เราไม่ต้องรอให้ใครมาออกกฎระเบียบให้เราเป็นผู้ว่า CEO เราสามารถเลือกที่จะเป็นได้ด้วยตัวของพวกเราเอง ขอกล่าวถึงเรื่อง การถ่ายโอน รพ.สต. ในทศวรรษหน้า ผมในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจจะส่งเสริมให้ รพ.สต. อยู่ในกำกับดูแลของท่านนายอำเภอ แทนท่านนายก อบจ. ซึ่งอำเภอมีเป้าหมายในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข งานสาธารณสุขก็คืองานของกระทรวงมหาดไทย ต้องมองภาพแบบองค์รวมทุกมิติ กล่าวคือต้องดูแลคนตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน สิ่งเหล่านี้คือเรื่องเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ขอให้พวกเราทุกคนร่วมกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐพอเพียง” เพื่อทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นรูปธรรม นำหลักการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ทำอย่างเป็นประจำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนา แปลว่า ดีขึ้น และดียิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ให้ความสำคัญกับทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หรือ CAST มีนัย คือ การบูรณาการงานหรือฟังก์ชันผ่านกลไกผู้นำของกระทรวงมหาดไทยที่มีบุคลากรจากทุกหน่วยงานในระดับกระทรวง ทบวง กรม อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ก็จะช่วยให้ฟังก์ชันสำเร็จได้ง่ายขึ้น ผลการทำงานแบบมีส่วนร่วมจะขยายผลไประดับใหญ่ขึ้นไปจนถึงระดับประเทศ ดังนั้น วัฏจักรของความสำเร็จในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ต้องทำแบบบูรณาการ และคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะข้อที่ 17 คือ ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) และผลลัพธ์ที่ได้ก็จะสร้างเสริมทำให้สถาบันนักปกครองมีความเข้มแข็ง และน่าเชื่อถือ
“ผมอยากเห็นความยั่งยืนนี้เกิดขึ้น ดังเช่นผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา และอีกหลาย ๆ จังหวัด ซึ่งได้รับกระแสความชื่นชมเป็นอย่างมาก เราต้องทำงานใกล้ชิดประชาชนแบบรองเท้าต้องสึกก่อนกางเกงขาด ในมุมกลับกันเราจะใช้หัวหน้าส่วนราชการหรือภาคีเครือข่ายการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งครอบคลุมภารกิจทุกมิติ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมด้วยการอนุรักษ์ดินและน้ำ มีการจัดการและคัดแยกขยะที่ดีและถูกต้อง ทั้งถังขยะเปียกลดโลกร้อน ธนาคารขยะ ชุมชนสังคมเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามทุกรูปแบบ เป็นสังคมที่มีความสงบเรียบร้อยประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เด็กนักเรียนได้รับการศึกษาที่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน คนชรามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีบ้านที่อยู่อาศัย สุขาที่ถุกสุขลักษณะ พร้อมทั้งส่งเสริมระบบการดูแลซึ่งกันและกันภายในหมู่บ้าน คือ ระบบคุ้ม ป๊อก หย่อมบ้าน เพื่อให้แต่ละคุ้มบ้านมีผู้นำ บ้านไหนใครมีปัญหาก็ช่วยกัน มีปัญหาทุกข์ร้อนก็คุยกัน ไม่มีปัญหาก็กระชับความสัมพันธ์ทำให้หมู่บ้านเข้มแข็ง ซึ่งกระบวนการทำให้คนกลับมาใกล้ชิดกัน ต้องช่วยกัน โดยผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน จะเกิดการรวมศูนย์ ถ้าทำอย่างนี้ได้ 1 ปี จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ตามคำมั่นสัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับองค์การสหประชาติ ประกาศเจตนารมณ์ 1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประกาศไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 จะเกิดขึ้นจริง ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนอยากเห็นพี่น้องชาวมหาดไทยมีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิ มีความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำสิ่งที่ดีในฐานะคนมหาดไทย ราชสีห์ผู้มีความภักดีต่อแผ่นดิน ได้ทำตนให้เป็นดุจดั่งเทียนไขละลายตน เพื่อให้แสงสว่างกับสังคม ความเหนื่อยยากทุกข์ยากแน่นอนว่าทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามี Passion อยากจะทำสิ่งที่ดีให้เกิดความสำเร็จ ต้องการ Change for Good ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้จากการพูด แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ และเวลาของพวกเราน่าจะมีไม่มาก สถาบันข้าราชการมหาดไทย สถาบันฝ่ายปกครอง กำลังถูกท้าทาย ขอให้ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ด้วยการทำหน้าที่ของราชสีห์ผู้มีความภักดีต่อแผ่นดิน ช่วยกันทำให้ทีมงานมีความเข้มแข็ง ช่วยกันทำให้คนในหมู่บ้านรวมตัว ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชนคนไทย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 95/2567 วันที่ 18 ม.ค. 2567