วันนี้ (20 ม.ค. 67) นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า จังหวัดหนองบัวลำภูได้จัดงาน “สักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี พ.ศ. 2567” และ “งานแพรพรรณลุ่มภู สู่สากล 2024” ณ ลานวัฒนธรรมสนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในระดับจังหวัดสู่ระดับภูมิภาค โดยตนได้รับเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยนางณัฐติกานต์ จันทร์หวร ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี นายศศิน พัฒนภิรมย์ นายพิสิษฐ์ชัย อภัยปิยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดหนองบัวลำภู ผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนจำนวนมาก เข้าร่วมงาน
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จังหวัดหนองบัวลำภูได้นำแนวนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญางานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทย ช่วยฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดวิชชาลัยผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อต่อยอดสู่การเป็นเมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมืองของประเทศไทย และเป็นศูนย์กลางเมืองผ้า ซึ่งผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภูมีลวดลายที่มีความงดงาม เป็นอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น สร้างสรรค์ขึ้นจากความภาคภูมิใจ และภูมิปัญญาของท้องถิ่น
“การจัดกิจกรรมเดินแบบในครั้งนี้ยังเป็นการแสดงถึง Soft Power ของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่สืบทอดทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น นั่นคือ “ผ้าขิดสลับหมี่” ซึ่งเป็นเทคนิคการทอผ้าที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างลายมัดหมี่และลายขิด ผ้าขิดนั้นมีเทคนิคการทอผ้าที่ซับซ้อนกว่าการทอผ้าธรรมดา เพราะต้องใช้เวลาและความประณีตในการทอ คำว่า “ขิด” นั้นเป็นภาษาพื้นบ้านของคนอีสาน มาจากคำว่าสะกิดหรืองัดซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะของผ้าทอลายขิด ส่วนผ้ามัดหมี่เป็นภูมิปัญญาการสร้างลวดลายในผ้าทอโดยการมัดหมี่แล้วนำมาย้อมด้ายหรือเส้นไหมให้เกิดลวดลาย แล้วจึงนำไปทอเป็นผืน ผ้าขิดสลับหมี่จึงมีลวดลายเอกลักษณ์ของการทอผ้าทั้งสองแบบอยู่ในผืนเดียวกัน ลวดลายดอกบัวหลวง คือ ดอกไม้ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู สื่อถึงนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน คำขวัญประจำจังหวัด สีชมพู คือ โทนสีประจำจังหวัด เมื่อรวมทุกสิ่งเข้าด้วยกันจึงรังสรรค์ออกมาเป็นผ้าทอที่มีอัตลักษณ์ของจังหวัดหนองบัวลำภูอยู่อย่างครบถ้วน นี่เป็นสุดยอดเสน่ห์ภูมิปัญญาของพวกเรา ซึ่งจังหวัดหนองบัวลำภูมีแผนยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า เมืองผ้า น่าอยู่ น่าเที่ยว” โดยเราเชื่อว่าผู้ผลิต ผู้ประกอบการชาวจังหวัดหนองบัวลำภูจะสามารถพัฒนาและต่อยอดผ้าที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดหนองบัวลำภูที่โดดเด่นและไปไกลถึง Fashion Week ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก นอกจากนี้จังหวัดหนองบัวลำภูยังมี อีกหลายผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น อาทิเช่น สินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย เช่น ผ้าของดีจังหวัดหนองบัวลำภู ประเภทอาหาร เช่น ข้าว สินค้าเกษตรอาหารปลอดภัย ประเภทของใช้ เช่น เครื่องจักสานตะกร้า กระติ๊บข้าวเหนียว และสินค้าที่มีคุณภาพของจังหวัดหนองบัวลำภูอีกมากมายที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน” นายสุวิทย์ฯ กล่าว
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอเชิญพี่น้องประชาชนชาวหนองบัวลำภูและจังหวัดใกล้เคียง มาเที่ยวชมงาน ช่วยกันอุดหนุนสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้คัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นมาจัดแสดงให้ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านได้ชื่นชม และสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ เพื่อเป็นการสนับสนุน และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับเศรษฐกิจและชีวิตของคนหนองบัวลำภู ซึ่งการงานสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และงานแพรพรรณลุ่มภู สู่สากล เรามีการจัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของจังหวัดหนองบัวลำภูและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้ช่วยกันสนับสนุน สร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมให้กิจกรรมประเพณีอันดีงามเหล่านี้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และคงอยู่กับจังหวัดหนองบัวลำภูและเยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 103/2567 วันที่ 20 ม.ค. 2567