วันนี้ (18 พ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน อ.ดร.กรกลด คำสุข นายตะวัน ก้อนแก้ว นายนุวัฒน์ พรมจันทึก และผู้เข้าร่วมอบรมจาก 26 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งในทุกครั้งที่ได้มาเป็นประธานเปิดการ coaching เพื่อพัฒนาศักยภาพของพี่น้องผู้เป็นความหวังของแผ่นดินและเป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับการรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในเรื่องของงานผ้าและงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ให้คงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเจอพี่น้องข้าราชการรวมทั้งจิตอาสาทุกท่านผู้มีความมุ่งมั่นน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากการนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การทำโครงการโคก หนอง นา เพื่อขับเคลื่อนเป็นอารยเกษตรพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนและเกษตรกรทุกคนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องชาวภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่นในด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต
“ขอให้พวกเราทุกคนได้มั่นใจและมั่นคงที่จะยืนหยัดน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ 4 พ.ค. 62 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้ง 2 องค์ต่างมีนัยสำคัญ คือ “เรา” ในฐานะพสกนิกรของพระองค์ต้องน้อมนำเอามาขบคิดและทำให้เกิดรูปธรรม เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ ต้องทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม หมู่บ้าน มีความสุขอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการร่วมกันทำ 2 สิ่ง คือ 1. ขยันหมั่นเพียรฝึกฝนน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และพระราชดำริ พระดำริ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่พระราชทานให้กับพวกเรา ไปปรับใช้ตามภูมิสังคม ทำให้เกิดสิ่งที่ดีกับตัวเราและครอบครัว และขยายผลสิ่งที่ดีเหล่านี้ให้กับคนที่เรารัก คนรอบข้าง เพื่อนบ้าน ด้วย และ 2. ข้าราชการทุกคนต้องยึดมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มเปี่ยม สุดกำลังความสามารถ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ดูแลพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป แต่ทว่า โอกาสหรือเวลาที่จะได้ทำความดีนั้นมีความไม่แน่ไม่นอน เราต้องทำตั้งแต่วันนี้ อย่าไปรีรอ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามนี้จากรุ่นสู่รุ่น สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขามาสืบสานทักษะและต่อยอดให้เกิดสิ่งที่สวยงาม สร้างสรรค์ คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาผู้มีกตเวทิตาคุณต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระราชบุพการี ด้วยทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจเสด็จไปทรงงานในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมพระราชทานความรู้ คำแนะนำ เพื่อธำรงรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ที่สะท้อนผ่านงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทย ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้ อันเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันสื่อสารและต่อยอดด้วยการมี “ทายาท” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลาน แต่เป็นใครก็ได้ อาจเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันหรืออำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกันก็ได้ หรือคนต่างชาติก็ได้ ให้เขามารับเอาสิ่งที่ดี ปลูกฝังให้เขารับเอาวิชาที่เขาสามารถทำได้ จึงเป็นที่มาของเครื่องหมายพระราชทาน Sustainable Fashion รับรองผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการ guarantee ว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเสียขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นงานผ้าหรืองานหัตถกรรมทุกชนิดจึงต้องใช้สีธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติ และยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือ “การพึ่งพาตนเอง” ดังที่ทรงยั่วยุให้พวกเราพยายามที่จะปลูกพืชให้สีธรรมชาติ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย มีการแลกเปลี่ยนวัสดุซึ่งกันและกันในประเทศ โดยไม่ใช้วัสดุจากโรงงาน จากเครื่องจักร จากกระบวนการผลิตแปรรูปที่ต้องใช้ทางเคมี หรือทางอุตสาหกรรม เพราะกระบวนการเหล่านี้ มันปลดปล่อยสิ่งที่เราเรียกว่า ยาพิษให้กับโลก และยังเป็นการหยิบยืมวัสดุจากต่างชาติ อันเปรียบได้กับการ “ใช้จมูกคนอื่นหายใจ” เพราะวัสดุจำพวกเม็ดพลาสติก เส้นใหญ่อุตสาหกรรม ล้วนมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยในด้านของความยั่งยืนนั้น ขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการรับรอง Carbon Footprint จากกระบวนการผลิตผ้าไทย ซึ่งมี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองแล้ว คือ 1. ใยกัญชง Piyasila จ.เพชรบูรณ์ 2. ฝ้ายย้อมคราม ดอนกอยโมเดล จ.สกลนคร 3. เส้นใยไหม นาหว้าโมเดล จ.นครพนม 4. ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จ.ลำพูน และอยู่ระหว่างการรับรองผ้าซาติน ผ้าบาติก จ.ปัตตานี
“พวกเราทุกคนเป็นคนโชคดีที่มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นประดุจแสงสว่างให้เราได้เดินตามแสงสว่าง และพระองค์ท่านยังทรงมีพระเมตตา ด้วยการพระราชทานลายผ้า นับเรื่องแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กระทั่งถึงลายสิริวชิราภรณ์ พร้อมทั้งพระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะหัตถกรรมไทย เพื่อสร้างให้รายได้กลับคืนสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล และทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ Thai Textiles Trend Book เพื่อกระตุ้นให้พวกเราฉุกคิดที่จะได้เอาแฟชั่นนิยมตามฤดูกาลและความสนใจของผู้คนมาเป็นหลักคิดในการพัฒนาผลงาน และทรงเชื้อเชิญผู้มีชื่อเสียง (Celebrity) ในวงการแฟชั่นดีไซน์ ภายใต้ชื่อ “คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาเป็นผู้ให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่นิยมชมชอบถูกอกถูกใจผู้บริโภค แต่คำว่า “โชคดีนี้จะเป็นจริงได้” เราต้องนำพระดำริและความรู้มาฝึกฝน มาทำให้เป็นชิ้นงานให้ดีที่สุด ด้วยการ “ต่อยอด” “การพึ่งพาตนเอง” และ “เป็นตัวอย่าง” มีนัยสำคัญว่า เราต้องเอาหลักการที่เป็นทฤษฎีนั้นมาผสมผสาน มาประยุกต์ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราเอง ควบคู่กับการสืบสาน รักษา ภูมิปัญญา อัตลักษณ์สิ่งดี ๆ ที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษ เฉกเช่นลายพระราชทานทุกลายจะมีกลิ่นไอของวัฒนธรรมภูมิปัญญาภูมิภาคต่าง ๆ เมื่อเราเห็นแล้วก็จะทำให้รำลึกถึงปู่ย่าตายายที่เคยทอผ้าหรือทำงานหัตถกรรมได้อย่างชัดเจน เป็น “ลายเก่าแบบใหม่” ที่ทำให้มีชิ้นงานที่หลากหลาย สอดรับกับความนิยมชมชอบ และความต้องการของใหม่ ๆ ของลูกค้าที่จะได้มีโอกาสเลือกซื้อเพิ่มมากขึ้น ไม่ตกเทรน ซึ่งข้าราชการ คือบุคคลที่สำคัญผู้ที่จะต้องช่วยกันบอก ช่วยกันพูดคุย เป็นผู้นำต้องทำก่อน ในการน้อมนำพระดำริสู่การขับเคลื่อนเกิดเป็นรูปธรรม เช่น นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้น้อมนำพระดำริ “Sustainable Fashion” สู่การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อำเภอชะอวด ตั้งเป้าผลิตเส้นไหมเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับกลุ่มทอผ้าแบบครบวงจร ต่อยอดพัฒนาสู่สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ยกระดับผ้าพื้นถิ่นสู่สากล อันแสดงให้เห็นว่า ข้าราชการต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน Key Success อยู่ที่พวกเราทุกคน ฝ่ายนโยบายปรบมือข้างเดียวมันก็ไม่สำเร็จ เราทุกคนต้องช่วยกัน และต้องทำทันที” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งสำคัญอีกประการที่พระองค์ท่านทรงเพียรพยายามและพระราชทานแนวทางให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือการ coaching โดยเราจะได้ปรึกษากับผู้มีความรู้ด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบลวดลาย การตัดเย็บ การใช้สีธรรมชาติ สะท้อนว่า พระองค์ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงขอให้เราทุกคนที่มีโอกาสในวันนี้ได้ keep Connection ขอ contact ของคณะวิทยากร เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนสอบถามปรึกษาหารือในอนาคต ขณะเดียวกัน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ต้องเป็นผู้นำการจัดการประกวดประขัน ดังที่ท่าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้เคยทำให้ดูเป็นตัวอย่างเมื่อปี 2566 ในการจัดประกวดออกแบบตัดเย็บ ซึ่งการประกวดจะทำให้คนที่มี passion มีเวทีพัฒนาศักยภาพ นำเสนอมุมมอง และได้เห็นแนวคิดของกลุ่มต่าง ๆ อันจะทำให้ผลงานที่พวกเรามีความภาคภูมิใจได้รับการต่อยอดให้ถูกอกถูกใจผู้บริโภคอย่างหลากหลายยิ่งขึ้น และจะทำให้เกิด Young Designer ทำให้ลูกหลานได้ลุกขึ้นมาสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้หัตถกรรมไทยยังคงอยู่คู่แผ่นดิน ควบคู่กับการช่วยดูแลครอบครัว ดูแลชุมชน ทำให้ชุมชน ครอบครัว มีความสุขอย่างยั่งยืนตามพระดำริ Sustainable Village ให้ครบทุกหมู่บ้านทั้งประเทศไทย “ทำวันนี้ให้ดีที่สุดและอย่าหยุดนิ่งที่จะทำ”
ด้าน ดร.วันดี กล่าวว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ที่พวกเราทุกคนได้รับพระกรุณาคุณจากพระองค์ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการผ้าและงานหัตถกรรมไทยอย่างมีนัยสำคัญ พี่น้องผู้ประกอบการทุกภาคต่างมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งล่าสุด คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert ได้เดินทางมาเยี่ยมชมพัฒนาการของพวกเราทุกคนที่ได้รับจากพระกรุณาคุณ ซึ่งท่านได้ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ พร้อมทั้งมอบแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมแก่พวกเรา 2 เรื่อง คือ 1. Sustainable Fashion ต้องอยู่คู่กับโลกและสิ่งแวดล้อม ด้วยด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติ เพราะเป็นเทรนของโลก และชื่นชมว่าสิ่งที่พระองค์ทรงยุยงพวกเราได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งในปีนี้ เราจะได้ไปจัดแสดงผืนผ้าและผลิตภัณฑ์แห่งความยั่งยืนที่สำนักงานใหญ่ UN ณ นครนิวยอร์ค เพื่อให้คนทั้งโลกได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาชาญ รวมถึงความสามารถของคนไทยที่สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเครื่องแต่งกาย และ 2. เรื่อง “คุณภาพและราคา” เพราะไม่ว่าผ้าจะถูกหรือแพงอยู่ที่คุณภาพ งาน craft งานฝีมือไม่เหมือนกัน แต่ทุกชิ้นต้องยึดอยู่ที่คุณภาพ แล้วเราจะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 892/2567 วันที่ 18 พ.ค. 2567