น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงปลายเดือน พ.ค. 67 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน อุณหภูมิจะเริ่มลดลง ฝนตกชุกและอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตรของประชาชน ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานผู้บัญชาการ บกปภ.ช. ได้มอบหมายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และ กรุงเทพมหานคร ให้เตรียมการป้องกัน และมีแผนเผชิญเหตุเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงให้พร้อมและสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
“ท่านอนุทิน ห่วงใยพี่น้องประชาชนจากผลกระทบของภัยพิบัติ ที่ในช่วงฤดูฝนทุกปีได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง โดยเฉพาะในปีนี้ที่ทั่วโลกรวมถึงไทยเผชิญกับภาวะอากาศสุดขั้ว ร้อนจัด และสถาบันต่างๆ ก็คาดว่าจะมีปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงฤดูฝน นั่นคืออาจมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ รวมถึงพายุที่รุนแรง ในฐานะผู้บัญชาการ บกปภ.ช. ท่านจึงมอบหมายและกำชับว่าทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้เตรียมแผนงานให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมความพร้อม รมว.มหาดไทย ให้ทุกจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสภาพอากาศที่ประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากหน่วยงานด้านการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำและฝ่ายปกครอง ทบทวนแผนเผชิญเหตุในแต่ละจังหวัดโดยให้ความสำคัญกับข้อมูลล่าสุดทั้งส่วนของพื้นที่เสี่ยง เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ ข้อมูลประชาชนกลุ่มเปราะบาง การกำหนดจุด/พื้นที่ปลอดภัย แผนการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฝาย พนังกั้นน้ำ รวมทั้งให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับเชื่อมโยงในเรื่องของการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อความรับผิดชอบในพื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน วางแผนการติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงเช่นเขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญ เส้นทางคมนาคม รวมทั้งวางระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้สามารถไปถึงประชาชนในทุกช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนของแผนเผชิญเหตุ หากเกิดเหตุหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทุกภัย วาตภัย หรือดินถล่ม ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการระดับจังหวัดอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการ ระดมกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร อปท. องค์กรการกุศล เพื่อให้ความช่วยเหลือ บริหารสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งส่วนการเฝ้าระวัง การเปิดทางน้ำ เร่งระบายน้ำ การให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการดำรงชีพ ที่อยู่อาศัย การสัญจร ในช่วงการเกิดเหตุโดยไม่เกิดปัญหาความทับซ้อนของหน่วยงาน
ทั้งนี้ บกปภ.ช. ได้รายงานข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงปี 2564-66 ที่ผ่านมาว่า 1) ปี 2564 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 69 จังหวัด รวม 548 อำเภอ/เขต 3,026 ตำบล/อปท./แขวง 21,990 หมู่บ้าน/ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 321,870 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหาย 19,132 หลัง 2) ปี 2565 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 74 จังหวัด รวม 715 อำเภอ/เขต 4,201 ตำบล/อปท./แขวง 32,005 หมู่บ้าน/ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 769,889 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 21 ราย และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหาย 37,255 หลัง 3) ปี 2566 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 67 จังหวัด รวม 547 อำเภอ/เขต 2,752 ตำบล/อปท./แขวง 17,454 หมู่บ้าน/ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 42,058 ครัวเรือน และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหาย 34,731 หลัง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 898/2567 วันที่ 19 พ.ค. 2567