น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ธ.ค. 67) เวลา 10.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยจำนวนกว่า 300 คน ณ ศาลาประชาคม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และได้เดินทางต่อไปยังบ้านคลองกะแดะแจะ หมู่ 6 ต.ตะเคียนทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และมอบถุงยังชีพ พร้อมน้ำดื่มประปาดื่มได้ ให้กับครัวเรือนประชาชนผู้ประสบภัย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา นายอนุทิน และคณะ ได้พักค้างคืนที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ในวันนี้
โดย นายอนุทิน ได้กล่าวกับพี่น้องประชาชนว่า ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทุกคนมาด้วยความห่วงใย เวลาประชาชนมีทุกข์ เราก็มาให้กำลังใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบหมาบให้อธิบดีกรม ปภ. ได้มาประจำพื้นที่เพื่อบริหารสถานการณ์ร่วมกับรักษาการผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี และยืนยันว่า “ทุกข์ของประชาชนหนักเท่าไหร่ คนมหาดไทยทุกข์ยิ่งกว่าประชาชนหลายเท่า” เพราะหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าเกิดเหตุอุทกภัยหรือภัยใด ๆ ก็ตามในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เราจะเร่งลงไปให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และไปร่วมแก้ปัญหาให้กับพื้นที่
“อำเภอกาญจนดิษฐ์เป็นอำเภอที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยเป็นปริมาณมาก จากปริมาณฝนตกหนักมากถึง 300 มิลลิเมตร และแม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะดีขึ้น แต่ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมามีฝนตกทั้งวันทั้งคืน จึงส่งผลกระทบอย่างมาก ซึ่งหน่วยที่รับผิดชอบในพื้นที่จะได้ตั้งคณะกรรมการฯ เร่งสำรวจความเสียหาย ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ โดยคณะกรรมการฯ และรายงานไปยัง ปภ. เพื่อเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยตามเกณฑ์สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท “สิ่งที่ต้องเร่งทำคือสำรวจความเสียหาย ให้เงินถึงมือประชาชนให้ได้เร็วที่สุด”
น.ส.ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอนุทิน ยังได้กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และสั่งการให้กรม ปภ. ร่วมกับ จ.สุราษฎร์ธานี และทุกจังหวัด มีการถอดบทเรียน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ใกล้เนินเขา อยู่ริมเขา พร้อมทั้งย้ำเตือนขอให้ประชาชนได้เชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำเตือนของราชการ หากเกิดสถานการณ์ต้องเร่งอพยพออกมาที่ศูนย์พักพิง เพราะการที่พี่น้องประชาชนมาอยู่ศูนย์พักพิง จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทั้งอาหารการกิน สุขอนามัย จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกส่วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด “เราต้องรักษาชีวิตของเราเสียก่อน ข้าวของเสียหายเราสามารถซ่อมแซมจัดซื้อจัดหาใหม่ได้ แต่ชีวิตและอวัยวะ ถ้าสูญเสียไป ไม่สามารถจัดหามาใหม่ได้ และญาติพี่น้องก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือหากบาดเจ็บสาหัส ต้องป่วยติดเตียงตลอดชีวิต ญาติพี่น้องคนในครอบครัวก็ต้องดูแลเราตลอดชีวิต ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย จึงขอแนะนำพี่น้องประชาชนต้องเชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำแนะนำภาครัฐ”
“ตั้งแต่วันที่ 12-16 ธ.ค. 67 ได้เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ใน อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 12,900 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 7,840 ครัวเรือน มีผู้พลัดตกน้ำเสียชีวิต 1 ราย และอยู่ระหว่างการค้นหาผู้สูญหายจากน้ำพัด และสำรวจความเสียหายด้านทรัพย์สินการเกษตร ประมง ทางสาธารณะ ถนนหนทางต่าง ๆ ทั้งนี้ อำเภอกาญจนดิษฐ์ ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ณ ที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ และร่วมกับศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จ.สุราษฎร์ธานี จัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง“
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 2102/2567 วันที่ 18 ธ.ค. 2567