วันนี้ (8 มิ.ย. 67) เวลา 06.30 น. ที่ลานวัฒนธรรม ตลาดนัดผ้าไหมสุรินทร์ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ (ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ หลังเก่า) อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรมสวมผ้าไทย ใส่บาตรกับช้าง ตามวิถีธรรมวิถีพุทธ โดยมี นางนุชจรินทร์ บุญทัน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายสันทัด แสนทอง นายประภาส ศรีจันทร์เวียง นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และรองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายเกษมศักดิ์ แสนโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ คนที่ 45 นางประภา แสนโภชน์ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุรินทร์ นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันตักบาตรกับช้างเพื่อความเป็นศิริมงคล โดยทุกคนต่างร่วมใจสวมใส่ชุดผ้าไทย เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวสุรินทร์นุ่งผ้าไหมสุรินทร์ตักบาตร โดยเฉพาะผ้าไหมสุรินทร์ที่มีชื่อเสียง ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัยเเละทุกโอกาส ในการออกมาทำกิจกรรมดี ๆ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้าไหมสุรินทร์ โดยได้รับเมตตาจาก พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย พระอารามหลวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ พระครูปริยัติกิจธำรง รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ เจ้าอาวาสวัดกลาง พร้อมด้วยพระเถรานุเถระ และสามเณร เดินบิณฑบาต โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม ได้เดินพบปะให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าไหมสุรินทร์ บริเวณตลาดนัดผ้าไหมสุรินทร์ หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์
พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ กล่าวสัมโมทนียกถา ใจความสำคัญโดยสังเขปว่า ขอถวายบูชาพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของชาวพุทธทั้งปวง และขออนุโมทนานายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนข้าราชการ และพุทธศาสนิกชน ผู้เป็นกำลังสำคัญในการธำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรมสวมผ้าไทย ใส่บาตรกับช้าง ตามวิถีธรรมวิถีพุทธ ที่ริเริ่มโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับส่วนหนึ่งของคำขวัญจังหวัดสุรินทร์ที่ว่า “ถิ่นช้างใหญ่” ก็สะท้อนออกมาในกิจกรรมนี้ทั้งหมด และเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์กับฝ่ายราชการ แสดงให้เห็นว่าเราจะเจริญรอยสิ่งที่ดีงามตามบรรพบุรุษ ทั้งบรรพบุรุษในส่วนของคณะสงฆ์และฆราวาสญาติโยม อันสะท้อนว่าครูบาอาจารย์สอนสั่งถ่ายทอดให้เราได้ซึมซับว่าสังคมไทยเราอยู่ด้วยความเอื้ออาทร ดังบทสวดมนต์ท่อนหนึ่งที่ว่า “ทานัง ทะทันตุ สัทธายะ สีลัง รักขันตุ สัพพะทา ภาวะนาภิระตา โหนตุ : จงให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา ด้วยใจศรัทธา ตลอดกาลทุกเมื่อ” ให้ทานเอื้ออาทรด้วยปัจจัย 4 รักษาศีล อยู่ในกฎกติกาเดียวกัน คือ กฎกติกาของความเป็นมนุษย์ หรือ ศีล 5 ควบคู่การเคารพนบนอบ ศรัทธา นับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษถึงปัจจุบัน และเมื่อมีเวลาพัฒนาตนเองต้องรีบพัฒนา ทั้ง “การพัฒนาวิชาชีพ” ทักษะทางกาย เพื่อจะทำให้ชีวิตอยู่ได้มีอายุยืนนาน และ “การพัฒนาจิตวิญญาณ” วิชาชีวิต คุณธรรมจริยธรรม เพื่อตอบโจทย์สังสารวัฏด้วยหิริโอตตัปปะ และความกตัญญูกตเวที
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน ทั้งพุทธศาสนิกชนชาวไทย ชาวต่างประเทศ และขอร่วมอนุโมทนาสาธุกับพวกเราทุกคนที่ได้ร่วมรับฟังสัมโมทนียกถา ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ผู้สำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค และดุษฎีบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา ทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ท่านจึงเป็นแบบอย่างของพระมหาเถระผู้มีความเพียรพยายามที่เด็ก เยาวชน ลูกหลาน ได้เห็นว่า “ชีวิตจะดีได้ต้องมีการศึกษา” แต่การศึกษาที่สำคัญ คือ “การศึกษาที่ไม่ทิ้งรากเหง้าความเป็นไทย” ด้วยการที่เราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต้องมีความรักความเมตตาซึ่งกันและกัน Thaismile หรือ “ยิ้มสยาม” เป็นการแสดงออกซึ่งความรัก ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ มองทุกคนเป็นมิตร มองทุกคนเป็นเพื่อน เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการแก้ไขในสิ่งผิดในทางสังคม สามารถยกตัวอย่างสังคมเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ส่วนใหญ่คนที่อยู่บ้านติดกัน เป็นเพื่อนบ้านกันแท้ ๆ บางทีก็ยังไม่รู้จักกัน ไม่พูดคุยกัน แต่เราเป็นคนบ้านนอก คนต่างจังหวัด วิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมที่เราได้รับการตกทอดมาจากบรรพบุรุษ คือ “การให้” หรือการแบ่งปัน แบ่งปันสิ่งที่เรามีให้กับเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดประตูใจคนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง อันจะทำให้เราได้มีความสัมพันธ์ที่ดูแลช่วยเหลือเอื้ออาทรกันและกัน
“ประการถัดมา คือ “การทำความดี รักษาศีล” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับความเมตตาจากมหาเถรสมาคมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (เจ้าประคุณสมเด็จช่วง) อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นผู้รื้อฟื้นขึ้นมา โดยในปัจจุบันมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย) เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อช่วยกันรักษาโลกใบนี้ให้อยู่รอดปลอดภัย ด้วยการรักษากฎระเบียบ การรักษาศีล อันมีศีล 5 เป็นปฐมบท ช่วยกันทำให้คนมีศีลธรรม และสำหรับเรื่องความเอื้อเฟื้อ ความรัก ความเมตตา กระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้ทุกชุมชนของประเทศไทยได้ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความเอื้อเฟื้อเกื้อการุณต่อผู้อื่น ทั้งนี้ มหาเถรสมาคมได้มีมติให้เจ้าคณะจังหวัดแจ้งคณะสงฆ์ในเขตปกครอง มอบหมายพระสังฆาธิการในสังกัด เป็นผู้แทนคณะสงฆ์รับผิดซอบประจำตำบล 1 พระ 1 ตำบล ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นหมู่บ้านยั่งยืน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตาเป็นผู้นำทำงานเคียงข้างปลัดอำเภอประจำตำบล เกษตรประจำตำบล สาธารณสุขประจำตำบล และทุกหน่วยงานในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าเราจะอยู่จนแก่ แต่ทรงสอนสั่งว่า “อนิจจัง” อันแปลว่า ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง เราไม่รู้ว่าจะตายวัน ตายพรุ่ง ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคน ทั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการทุกสังกัด ได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนที่พระเดชพระคุณท่านได้มอบให้พวกเราในวันนี้ มุ่งมั่นภาวนา ด้วยการทุ่มเททำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อยังประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1071/2567 วันที่ 8 มิ.ย. 2567