วันนี้ (8 มิ.ย. 67) เวลา 09.30 น. ที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” (Community Lab Model for Quality of life : CLM) ระดับตำบล ต.หนองบัวบาน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา อารยเกษตร อำเภอรัตนบุรี โดยได้รับเมตตาจากพระครูโพธิจริยานุวัตร เจ้าคณะตำบลหนองไผ่ล้อม พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ บ้านหนองบอน ต.หนองบัวบาน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ และพระเถรานุเถระ ร่วมให้การต้อน พร้อมด้วยนายตวงอัฐ บุตรวิชา นายอำเภอรัตนบุรี ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คุณบุสดี ขุนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ นายผล จำปาหวาย ประธานเครือข่ายโคกหนองนารัตนบุรี และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอรัตนบุรี กว่า 200 คน ร่วมให้การต้อนรับ โดยนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางนุชจรินทร์ บุญทัน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประภาส ศรีจันทร์เวียง นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และรองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายเกษมศักดิ์ แสนโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ คนที่ 45 นางประภา แสนโภชน์ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุรินทร์ นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายกิตติ สัตย์ซื่อ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และนำผู้ร่วมกิจกรรมถวายธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วร่วมรับฟังความเป็นมาการขับเคลื่อนโคก หนอง นา อารยเกษตร โดยพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ และบรรยายสรุป โดยภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอรัตนบุรี และรับฟังการขับร้องเพลงเรารักเมืองสุรินทร์ เพลงรัตนบุรีเมืองงาม และเพลงหมอลำ โดยเด็กหญิงฝนแก้ว เพียรเสมอ (น้องไข่มุก ไมค์ทองคำ) โดยภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ร่วมรำวงด้วยความสนุกสนาน จากนั้น ร่วมปลูก “มะค่าแต้” ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุรินทร์ และเดินเยี่ยมชมแปลง โคก หนอง นา CLM ตำบลหนองบัวบาน และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ (โคก หนอง นา ธนาคารน้ำโมเดล)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ดีใจที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ บ้านหนองบอน อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ที่เป็นต้นแบบของโลกตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร ซึ่งมี พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ เป็นหลักชัย ในการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังให้กับกรมราชทัณฑ์ เพื่อฝึกอบรมนักโทษให้มีทักษะในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพเพื่อใช้ในการหาเลี้ยงชีพหลังพ้นโทษ ซึ่งการช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำให้ได้รับการอบรมโคก หนอง นา เป็นการช่วยเหลือพวกเราทุกคน เพราะผู้ต้องขังเป็นผู้ที่กระทำผิด ฆ่าฟันฉกชิงวิ่งราว ติดยาเสพติด และความผิดอื่น ๆ เพราะชีวิตเคยพลาดพลั้ง ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่เมื่อเขาพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตในสังคม เขาก็จะมีหลักการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง พออยู่พอกิน มีเงินเหลือเก็บ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่กลับไปทำความผิด ชีวิตของประชาชนสุจริตชนทั่วไปก็จะมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังพระราชดํารัสที่พระองค์ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี และโครงการพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,741 โครงการ โดยโคก หนอง นา อารยเกษตร เป็นการสืบสานและต่อยอดทฤษฎีใหม่หลาย ๆ ทฤษฎีไว้ในบริเวณแปลง อาทิ เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีหลักการว่าต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้พอต่อการดำรงชีวิต โดยมีพื้นที่น้ำ 30% ด้วยการขุดสระ ขุดบ่อ ขุดหนองให้ลึกกว่าปกติ อีก 30% ต้องใช้ทำมาหากิน ปลูกข้าว ทำนา อีก 30% เป็นความมั่นคง เป็นมรดกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง หรือป่า 5 ระดับ และอีก 10% สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงไปทดลองเกษตรทฤษฎีใหม่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี กระทั่งทรงเห็นผลลัพธ์ที่แน่ชัด จึงพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น “ผู้นำทำก่อน” โดยทรงลงจอบทำโคก หนอง นา เป็นต้นแบบที่บริเวณที่ตั้งเดิมของพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต และได้พระราชทานพระราชดำรัส เรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความตอนหนึ่งว่า “…โคก หนอง นา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน…โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา…” ซึ่งในวันนั้น มีพระมหาเถระและพระเถระ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ในพิธี โดยรูปแรก คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และรูปที่ 10 คือ พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ อันเป็นหลักชัยที่พวกเราทุกคนน้อมนำมา “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อสร้างสิ่งที่ดีงามของการทำมาหากิน ทำให้ชีวิตมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“ขอชื่นชมน้อง ๆ กลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนบ้านทัพโพธิ์วิทยา ที่ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต เรียนรู้สิ่งที่ดีที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในอนาคตด้วยการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้ พวกเราทุกคนเป็นบัวพ้นน้ำ ทั้งผู้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพสกนิกรที่ดีของพระองค์ท่าน ด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง เพราะสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นกับตัวเราได้ก็ต้องทำด้วยตนเอง ดังพุทธศาสนสุภาษิต “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ แปล. “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งจริงได้ บุคคลมีตนที่ฝึกดีแล้ว จะได้ที่พึ่งซึ่งหายากได้” ขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันขับเคลื่อนขยายผล ด้วยการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อร่วมรับประโยชน์ อย่างต่อเนื่อง เป็นระเบิดเวลาแห่งความดี ทำให้ทั่วประเทศบังเกิดอารยเกษตรเต็มพื้นที่ ทำให้พืชผักสวนครัวเต็มบ้านเต็มเมือง ทำให้ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน บ้านเมืองสะอาด ทุกหมู่บ้านเต็มไปด้วยน้ำใจ เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อประเทศไทยเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ ที่ผู้คนมีแต่ความสุขที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ กล่าวว่า ขออนุโมทนาท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จในการน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้พระราชทานโครงการพระราชดำริ “โคก หนอง นา อารยเกษตร” เพื่อเป็นเครื่องมือในการหนุนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ซึ่งท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้มีสัญญาใจกับอาตมภาพ ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 ว่าจะมาเยือนโคก หนอง นา อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และในวันนี้ท่านก็ได้เดินทางมาที่นี่ เป็นช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง เพื่อที่จะ เป็นกำลังหนุนเสริมทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป
“ถ้าไม่มีอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 หรือปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 41 ที่ชื่อ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ผู้เป็นเบื้องหลังของการเป็นผู้ดูแลแผ่นดินของเรา จนทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 4,700 ล้านบาทจากรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดความร่มรื่น ชุ่มชื้น และยั่งยืน สืบสาน รักษา และต่อยอด เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีภาคีเครือข่ายภาควิชาการคนสำคัญผู้เป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยกุล เป็นผู้ออกแบบแปลนแปลงแรกที่ตลาดน้ำ 4 ภาค ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ซึ่งทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการผู้มีจิตอาสาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยประโยคที่อาตมภาพยังคงจดจำและรำลึกถึงอยู่เสมอ เมื่อครั้งได้พบปะพูดคุยกับท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ คือ “ทำอย่างไรเราถึงจะพัฒนาแผ่นดินของเราได้” และท่านก็ได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่การขับเคลื่อน “โคก หนอง นา อารยเกษตร” ซึ่งเป็น “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และทุกพื้นที่ทั่วทั้งผืนแผ่นดินไทย ด้วยหัวเรือหลักที่ชื่อ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”” พระอาจารย์ ดร.สังคม กล่าวเพิ่มเติม
พระอาจารย์ ดร.สังคม กล่าวในช่วงท้ายว่า ในอนาคตอันใกล้ พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ก่อสร้าง “พระมหาธาตุเจดีย์แห่งความพอเพียง” เพื่อจะเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง โดยมีหลวงพ่อครูบาบุญชุ่ม ร่วมอนุโมทนาด้วย เราจะช่วยกันทำให้เป็น Landmark พระมหาธาตุเจดีย์บนหลังช้าง พื้นที่แห่งความยั่งยืน พื้นที่แห่งการสืบสาน รักษา ต่อยอด วัฒนธรรมอันดีงาม ดังคำขวัญ “สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” ตลอดไป
คุณบุสดี ขุนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ CLM แห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน พี่น้องทุกกลุ่ม ทุกหน่วยงานที่ต้องการมาศึกษาดูงาน ซึ่งได้รับเมตตาจากกรมการพัฒนาชุมชนสนับสนุนงบประมาณ เราลงมือทำด้วยการประสานเครือข่าย มุ่งมั่นดำเนินชีวิตด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้พออยู่ พอมี พอกิน พอใช้ ให้มีความร่มเย็น เราใช้พื้นที่ตรงนี้ 11 ไร่ 3 งาน จากเดิมเราทำโคก หนอง นา แต่เราไม่มีปัญญา เราทำงานเกื้อกูลเครือข่าย เอามื้อสามัคคี ปลูกป่า 5 ระดับ ไม้ยืนต้น ไม้กินใบ ไม้กินผล ไม้สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน ใต้ดิน และเมื่อเรามีกิน มีใช้ มีอยู่ มีความร่มเย็น และนำแนวทางการจำหน่ายตามมาตรฐาน EarthSafe Foundation มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ทำให้สมาชิกมีรายได้จากผลผลิต ชีวิตมีความมั่นคง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1076/2567 วันที่ 8 มิ.ย. 2567