วันนี้ (8 มิ.ย. 67) เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์กิจกรรมชุมชนบ้านดง หมู่ที่ 3 ตำบลตาคง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมกิจกรรมการดำเนินงาน และให้กำลังใจพื้นที่เป้าหมาย “โครงการ โคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จังหวัดสุรินทร์” โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และโครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยได้รับเมตตาจากพระเถรานุเถระ ร่วมให้การต้อนรับ โดยมี นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นางวาฐิณี บุดดาหลู่ เจ้าของศูนย์กิจกรรมชุมชนบ้านดง และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ประชาชนจิตอาสา คณะครู และนักเรียน ในพื้นที่อำเภอสังขะ กว่า 300 คน ร่วมให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นางนุชจรินทร์ บุญทัน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสันทัด แสนทอง นายประภาส ศรีจันทร์เวียง นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นางวาสินี แสนทอง นางแสงดาว ศรีจันทร์เวียง นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และรองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายกิตติ สัตย์ซื่อ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียน ทำให้เห็นความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ ของพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างแห่งความสมัครสมานสามัคคี เริ่มตั้งแต่ชุดการแสดงของโรงเรียนสังขะ “แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 2024” สุดยอดวงดนตรีลูกทุ่งเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย และยิ่งได้รับฟังคุณวาฐิณี บุดดาหลู่ เจ้าของศูนย์กิจกรรมชุมชนบ้านดง ก็ยิ่งดีหนักเข้าไปใหญ่ เพราะทำให้เราได้ทราบว่า จากการเริ่มต้นชีวิตคู่ ครอบครัวมีพื้นที่ 3 งาน แต่ 20 ปีผ่านไป ก็สามารถบริจาคที่ดินเกือบ 2 ไร่ แล้วยังมีที่ดินทำกินอีก 21 ไร่ นับว่า “คุณวาฐิณีเป็นต้นแบบคนสู้ชีวิต” และสามารถเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้ง 3 คน ให้ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น คือ เรื่องการศึกษาได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเรียนหลักสูตรแพทยศาสตร์ บริหารธุรกิจและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และดีใจแทนครอบครัวที่ลูกสาวคนที่ 2 ยังได้ตัดสินใจที่จะมาสืบสาน รักษา และต่อยอด สิ่งที่คุณแม่และคุณพ่อ ได้ทำไว้
“คุณวาฐิณี บุดดาหลู่ เป็นอีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างที่ทำให้พวกเราได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คนที่น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการมุ่งมั่นนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในชีวิตประจำวัน มีสติ มีคุณธรรมในการกำกับการดำรงชีวิต ไม่มั่วสุมในเรื่องอบายมุข เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน ก็จะประสบความสำเร็จเหมือนคุณวาฐิณี และอีกประการหนึ่งที่เป็นเรื่องน่ายินดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ คือ การทำให้ “สิ่งที่สังคมไทยเราขาดหายไป” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพียรพยายามเตือนสติพวกเรา ผ่านพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเรื่องแรกที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางเพื่อแก้ไขในสิ่งผิด คือ การที่พวกเราไม่ช่วยเหลือ ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เสียสละเพื่อส่วนรวม จึงทรงพระราชทานพระมหากรุณาให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน โดยแนวพระราชดำรินี้ คุณวาฐิณี ได้น้อมนำมาทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องการบริจาคที่ดิน การถ่ายทอดองค์ความรู้ และยังเป็นผู้นำดูแลจิตอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อที่จะช่วยทำสิ่งที่ดีให้กับส่วนรวม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และนายอำเภอสังขะ ได้ขยายผลนำตัวอย่างดี ๆ เฉกเช่น คุณวาฐิณี บุดดาหลู่ เจ้าของศูนย์กิจกรรมชุมชนบ้านดง แห่งนี้ ไปทำให้ทุกพื้นที่หมู่บ้าน ทุกพื้นที่ตำบล ทุกพื้นที่อำเภอ และทุกจังหวัด ได้มีพื้นที่ดี ๆ แบบนี้ เพื่อให้เรื่องดี ๆ กระจายเต็มผืนแผ่นดินไทย เต็มทั้งจังหวัด อำเภอ เพื่อให้เกิดเส้นทางแห่งความยั่งยืน ที่ไม่ว่าจะเลือกไปทางไหน ก็จะเจอแต่เรื่องดี ๆ ด้วยการเพ่งพินิจพิจารณา หาบัวพ้นน้ำ (ตัวอย่างที่ดี) และบัวปริ่มน้ำ (กำลังจะเป็นตัวอย่าง) ด้วยการสวมบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่จังหวัด อำเภอ เพื่ออำนวยการทำให้พี่น้องทุกภาคส่วนทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน รวมกลุ่มเป็น “ทีมงานบูรณาการ” และเสริมเติมเต็มพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคี ช่วยกันลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด โดยเฉพาะระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านยิ่งมีความจำเป็น
นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวอีกว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขอให้ท่านนายอำเภอทั่วประเทศ นำสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์แห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” หนุนบทบาทของปลัดอำเภอ เป็นหัวหน้าทีมตำบลแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมี พัฒนาการ พัฒนากร เกษตร สาธารณสุข ร่วมกันเป็นทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทีมหมู่บ้านบำบัดทุกข์ บำรุงแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีทีมพระประจำตำบล นำทีมงานลงพื้นที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างคึกคัก ซึ่งหากลงพิ้นที่บ่อย ๆ เราก็จะเจอ “บัวใกล้พ้นน้ำ” และทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Viilage)” ตามตัวชี้วัดหมู่บ้านยั่งยืนทั้ง 8 ตัวชี้วัด เช่น 1) ช่วยสร้างความรักสามัคคี ทำให้ระบบคุ้มเข้มแข็ง รวมกลุ่ม 10-15 หลังคาเรือนเป็น 1 คุ้ม ทำให้คนในคุ้มเจอกันทุกสัปดาห์ ชวนกันกวาดหญ้า ปลูกผักสวนครัว ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำบุญใส่บาตร ช่วยกันดูแลสมาชิกในคุ้มบ้าน 2) มีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการน้อมนำโครงการพระราชดำริ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ลงมือปลูกผักรอบบ้านให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหาร มีพริก ข่าตะไคร้ โหระพา กะเพรา มะกรูด มะนาว กล้วย อ้อย ผักบุ้ง ผักกะเฉด มะเขือพวง มะเขือกรอบ มะเขือยาว โดยต้องปลูกไม่ต่ำกว่าบ้านละ 20 ชนิด 3) ความสะอาด ด้วยการมีบ้านที่ถูกสุขลักษณะ มีการคัดแยกขยะ มีการตั้งธนาคารขยะ มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขยะอันตราย (ถังแดง) 4) ช่วยกันดูแลลูกหลานไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมทั้งช่วยกันค้นหา ถ้ามีผู้ติดยาเสพติด ก็พาเข้ารับการบำบัดรักษา และช่วยกันจัดตั้งกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อเสริมแรงบวกให้สังคม/ชุมชนห่างไกลยาเสพติด 5) สอนลูกหลานให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีทักษะการดำรงชีวิต ทั้งการสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน รู้จักยิ้ม ไหว้ สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ซึ่งหากได้รับการฝึกจนเป็นนิจ ก็จะทำให้เขามีความเคารพผู้ใหญ่ มีความกตัญญูกตเวที สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข 6) ทุกครัวเรือนมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง มีบ่อน้ำตื้น หากบ้านไหนไม่สามารถขุดได้ ก็ให้มีโอ่ง มีภาชนะใส่น้ำ เป็นต้น
“ท้ายที่สุดนี้ขอเรียนยืนยันว่า “เราทุกคนโชคดีที่เกิดเป็นคนไทยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผู้ทรงห่วงใยและปรารถนาดีอยากให้พวกเรามีความสุขความเจริญ สะท้อนพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพราะพระองค์ทรงปรารถนาให้พวกเราทุกคนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
นางวาฐิณี บุดดาหลู่ เจ้าของศูนย์กิจกรรมชุมชนบ้านดง กล่าวว่า แต่เริ่มเดิมทีตนมีพื้นที่ 3 งาน และด้วยมีใจรักการทำการเกษตร เริ่มจากพื้นที่ 3 งาน ทำเรื่องไร่นาสวนผสม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เมื่อปี 2548 ในระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันตนมีพื้นที่ทั้งหมด 21 ไร่ 2 งาน โดยคุณแม่ได้มอบที่ดินให้กับชุมชนพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านดง จำนวน 1 ไร่ 2 งาน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านพืช ด้านประมง ด้านสัตว์ และเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การปศุสัตว์ นอกจากนี้ ในด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร ตนได้ทำการผลิตสินค้าและจำหน่ายเองทุกชิ้น พร้อมทั้งต่อยอดในเรื่องของพันธุกรรมพืช ประมง และการปศุสัตว์ และมีการขยายเครือข่ายในเขตพื้นที่ตำบล อำเภอ จังหวัด
“อีกสิ่งหนึ่งที่ภาคภูมิใจ คือ ตนได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำกิจกรรมจิตอาสา โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตนมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความมุ่งหวังที่จะทำเรื่องการเกษตรให้เป็นเกษตรที่มีความยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าถึงและมีหัวใจรักในเรื่องการทำการเกษตรแบบบูรณาการ ได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่โคก หนอง นา อารยเกษตร เพื่อให้มีรายได้โดยที่ไม่ทิ้งถิ่นฐาน ได้ช่วยเหลืองานสังคม ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และอยากส่งต่อให้กับลูก ๆ ซึ่งก็เป็นความโชคดีที่ นางสาวสิริมา บุดดาหลู่ ลูกสาวคนที่ 2 มีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อและต่อยอดสิ่งที่ครอบครัวได้สร้างไว้เพื่อไปสู่เกษตรสมัยใหม่ โดยใช้นวัตกรรมทางการเกษตร เพิ่มเทคโนโลยีการผลิตให้สามารถเติบโตได้ต่อไป” นางวาฐิณี กล่าวเพิ่มเติม
นางวาฐิณี กล่าวเน้นย้ำว่า ตนมีแนวทางการดำเนินชีวิต คือ ขอให้มองในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่มองสิ่งที่ตนเองขาด เริ่มจากการเลี้ยงหมู เลี้ยงจิ้งหรีด ขุดสระเลี้ยงปลา แปรรูปอาหาร ปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปลูกพืชผสมผสานเป็นรุ่น ๆ ไม่ปลูกพร้อมกันทีเดียว เพื่อสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี ทำให้ปัจจุบันตนเองไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารจากภายนอกเลย ทั้งยังสามารถสร้างรายได้เดือนละ 3-5 หมื่นบาท ทั้งนี้ โครงการโคก หนอง นา ตนมองว่าเป็น “ของขวัญชิ้นใหญ่ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยมอบให้ ทำให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชนมีความสุขอย่างมาก” เเละมีความพร้อมที่จะเติมความสุขให้กับผู้อื่น ทั้งได้ดำเนินการป้องกันการพังทลายของหน้าดินด้วยการปลูกแฝก ข้าว ถั่วพร้า ตะไคร้ เป็นต้น เเละดำเนินการปลูกต้นไม้บางส่วนเเล้ว และจะมุ่งมั่นทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเเละขยายผลอย่างยั่งยืนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1090/2567 วันที่ 8 มิ.ย. 2567