วันนี้ (9 มิ.ย. 67) เวลา 07.30 น. ที่โรงเรียนฝึกสอนควาญช้างและช้างราชมงคลสุรินทร์ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของหมอช้างและควาญช้าง และเยี่ยมชมบริเวณเกาะเสด็จ โดยมี อาจารย์ทรงยศ กิตติชนม์ธวัช คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี นายแก้ว บุตรชาติ (ปู่แก้ว) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เคยทำหน้าที่ถวายการดูแลพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ พระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นายศิริชัย สมปาง นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานวิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมให้การต้อนรับและนำชม โดยนายประภาส ศรีจันทร์เวียง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นางแสงดาว ศรีจันทร์เวียง รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์และรองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายกิตติ สัตย์ซื่อ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ นางสาวสุปราณี มหาพัฒนไทย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุรินทร์ นายกิติชัย เกตุวงษา ท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ นายวีระพงษ์ สว่างสิริทิพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธการและข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ นางสาวสิฏฐ์ณิชภา กลีบเอ็จ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินตรวจเยี่ยมให้กำลังใจควาญช้าง ร่วมให้อาหารช้าง “พลายชุมพร” พร้อมเดินสำรวจบริเวณพื้นที่ภายในโรงเรียนฝึกสอนควาญช้างฯ และนำเดินสำรวจพลับพลาที่ประทับบริเวณเกาะเสด็จ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ตนได้เดินทางมาตรวจราชการเพื่อติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2567 ในเช้าวันนี้ จึงได้เดินทางมาเพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจ คุณลุงแก้ว บุตรชาติ หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า “ปู่แก้ว” ผู้ที่มีโอกาสสำคัญของชีวิตในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการถวายการดูแลพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ พระยาช้างเผือกประจำรัชกาล พร้อมทั้งครอบครัวของลุงแก้ว ที่ในปัจจุบันได้ทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียนฝึกสอนควาญช้างและช้างราชมงคลสุรินทร์ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี และน่าภาคภูมิใจยิ่งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาด้านคชศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันนี้หาบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก อีกทั้งคณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตร “การอนุรักษ์และจัดการช้าง” เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาและสานต่อเจตนารมณ์การเลี้ยงช้างของคนสุรินทร์ เป็นต้น อันเชื่อมโยงสอดคล้องและสะท้อนถึงคุณค่าของภูมิปัญญาดังคำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์ที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประค่าสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ตนยังได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลจากลุงแก้ว เกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นสถานที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2498 โดยจากข้อมูลบันทึก ทำให้ได้ทราบว่า ในเวลา 16.30 น. ของวันดังกล่าว ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนเกษตรกรรมสุรินทร์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ในปัจจุบัน) แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับบนศาลารับเสด็จซึ่งโรงเรียนเกษตรกรรมและจังหวัดสุรินทร์สร้างถวาย ณ บริเวณทิศใต้ของโรงเรียน ซึ่งบริเวณนี้มีลักษณะเป็นเกาะ มีลำน้ำล้อมรอบ และพระองค์ได้เสวยพระสุธารสชา พร้อมทั้งมีพระราชปฏิสันถาร กับอาจารย์ธรรมนูญ สิงคเสลิต ครูใหญ่ของโรงเรียนในขณะนั้น โดยทรงซักถามกิจการของโรงเรียนด้วยความสนพระทัย
“จากข้อมูลที่เคยมีการจดบันทึกไว้ และจากภาพที่ปรากฏในการเดินสำรวจศาลารับเสด็จ บริเวณเกาะเสด็จ ในวันนี้ พบว่า ศาลารับเสด็จ เป็นศาลาไม้ทรงจตุรมุข ยกพื้น มีบันไดขึ้นลง 4 ด้าน หน้ามุกทุกด้านฉลุลวดลายงดงาม ศาลาหลังนี้เป็นศาลาประวัติศาสตร์ที่ชาวเกษตรสุรินทร์ทุกคนภาคภูมิใจ นอกจากการสร้างศาลารับเสด็จแล้ว ยังมีการสร้างห้องลงพระบังคน ขึ้นอีก 1 หลัง อยู่ทางทิศใต้ ห่างไปประมาณ 10 เมตร ภายในห้องโรงพระบังคน มีโถพระบังคน ซึ่งทำจากไม้สักทองทั้งชุด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ทำให้ศาลารับเสด็จและห้องลงพระบังคน มีสภาพทรุดโทรมลง ทางโรงเรียนฯ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยตามลำดับ ได้มีการบูรณะถึง 4 ครั้ง คือในปี 2531 ปี 2537 ปี 2548 และปี 2549 แล้วเสร็จในปี 2550” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 17 ปี ที่ศาลารับเสด็จ บริเวณเกาะเสด็จ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ไม่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงความรัก ความผูกพัน และความปรารถนาดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อพสกนิกรชาวไทย รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อความวัฒนาสถาพรของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาด้านเกษตรศาสตร์ ที่ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษไทย ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระทัยและพระราชทานแนวพระราชดำริ ตลอดจนทฤษฎีใหม่นานัปการ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี ทำให้การเกษตรกรรมไทยเป็นอาชีพที่คงอยู่คู่กับประเทศไทยตราบถึงปัจจุบัน แต่ด้วยกาลเวลา ด้วยสภาพอากาศ และความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพนานาประการ รวมถึงงบประมาณการดำเนินงานของภาครัฐที่จำกัด จึงทำให้บริเวณพื้นที่แห่งนี้มีความชำรุดทรุดโทรม มีต้นหญ้าวัชพืชขึ้นรก และในหนองน้ำมีผักตบชวาเป็นจำนวนมาก
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันสะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสให้แก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นหลักชัยที่สำคัญในการให้ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ได้น้อมนำมาปฏิบัติเพื่อที่จะ “แก้ไขในสิ่งผิด” ซึ่งบริเวณพื้นที่เกาะเสด็จแห่งนี้ มีหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่พวกเราสามารถร่วมกัน สนองพระราชปณิธานในการแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อ Change for Good ทำให้พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้กลับมาเป็นพื้นที่ในการศึกษาเรียนรู้ ประวัติศาสตร์การเสด็จพระราชดำเนินของล้นเกล้าฯ ตลอดจนการเรียนรู้ด้านคชศาสตร์ พฤกษศาสตร์ และการบริหารจัดการน้ำ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงมหาดไทย จะได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นแม่กอง ด้วยการบูรณาการร่วมกับอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณะบริเวณศาลารับเสด็จแห่งนี้ ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้ และจัดทำเป็นเขตอภัยทาน นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เป็นผู้นำประชาชนจิตอาสา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้อยรวมพลังร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์ ถางหญ้า วัชพืช ขุดลอกหนองน้ำ จัดเก็บผักตบชวา และจัดทำป้ายความรู้พร้อมทั้ง QR Code ติดบริเวณต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริเวณเกาะเสด็จแห่งนี้ เพื่อพวกเราทุกคนจะได้ร่วมกันภาคภูมิใจ และร่วมทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์อันสำคัญ ที่ยังคงเหลือไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ลูกหลานชาวสุรินทร์และลูกหลานไทยทุกคน ได้ภาคภูมิใจและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสถานที่สำคัญแห่งนี้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคงอยู่คู่กับจังหวัดสุรินทร์อย่างยั่งยืนตลอดไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1094/2567 วันที่ 9 มิ.ย. 2567