ผู้ว่าฯ สงขลา นำทีมผู้บริหารผนึกกำลังทีมจิตอาสา ขับเคลื่อนส่งเสริมการเรียนรู้ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” และ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เสริมสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ควบคู่การเป็นหัวเมืองปักษ์ใต้ ดินแดนประวัติศาสตร์หลายร้อยปี ถ่ายทอดสู่ลูกหลานและประชาชนทุกช่วงวัย เสริมสร้างสำนึกรักเมืองไทยรักบ้านเกิด เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 67 นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลา ได้นำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งหนุนเสริมบทบาทของภาคราชการร่วมกับจิตอาสาทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ขยายผลการทำหน้าที่วิทยากรผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำถิ่น ซึ่งในวันนี้ได้มีการประชุมขับเคลื่อนงานการขยายผลวิทยากร เพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีนางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นายวิญญู สิงหเสม ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสาพระราชทาน บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสงขลา
นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จังหวัดสงขลา ได้ส่งตัวแทนจังหวัดสงขลา เพื่อทำหน้าที่เป็น ครู ก. หรือ ผู้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ จำนวน 24 ราย โดยได้ผ่านฝึกอบรมเป็นวิทยากร เพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยฯ จากกระทรวงมหาดไทย ในรุ่นที่ 16 ระหว่างวันที่ 2 – 6 พฤษภาคม 2567 จำนวน 12 คน และรุ่นที่ 17 ระหว่างวันที่ 7 – 11 พฤษภาคม 2567 จำนวน 12 คน เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลวิทยากร ทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นระดับอำเภอและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะทำหน้าที่เป็นครู ข. ต่อไป
นายสมนึก กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมครู ก. มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้กับบุคลากรของภาครัฐ และจิตอาสา เพื่อได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติไทย รวมทั้งได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยตลอดมา โดยครู ก. ได้บอกเล่าเรื่องราว ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย และยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหลอมรวมดินแดน เพื่อเป็นสยามประเทศ ตั้งแต่ยุคอาณาจักรโบราณ ที่มีความงดงามของศิลปะและประวัติศาสตร์อันยาวนาน มาจนถึง ยุคสุโขทัย ราชธานีแห่งใหม่ซึ่งเป็นดินแดนที่ก่อกำเนิด “ลายสือไทย” ต้นฉบับของภาษาไทยของทุกวันนี้ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตลอดจนถึงการดูแลพสกนิกร ด้วยระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ซึ่งช่วยสร้างความร่มเย็น ดับทุกข์ร้อนของปวงประชามาจนถึง ยุคกรุงศรีอยุธยา ราชธานีอันเรืองรองและคงอยู่ยาวนานถึง 417 ปี ที่มีประวัติในการปกครอง การกอบกู้เอกราช วีรกรรมและด้านขนบธรรมเนียมประเพณีงดงามมากมาย เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธ์ุธัญญาหารดังคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และมีพระมหากษัตริย์ปกครองอาณาจักรสืบต่อกันมา 33 พระองค์ มีราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันครองอาณาจักรรวม 5 ราชวงศ์ อันได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง จวบจนเข้าสู่ยุคกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีบูรพมหากษัตริย์ไทย และราชจักรีวงศ์ ที่ทุกพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานับประการ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรของไทยจวบจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดสงขลา ก็เป็นเมืองเก่าที่มีความเป็นมายาวนานนับเนื่องกว่า 400 ปี ตั้งแต่ชื่อเมืองซิงกอรา เมืองสะทิงพระ และเป็น “สงขลา” ในปัจจุบัน สะท้อนความเป็นมาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย ในฐานะเป็นหัวเมืองใหญ่ของปักษ์ใต้ดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร ให้ได้รับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เสมอมา
“การประชุมในวันนี้ได้หารือแบ่งมอบภารกิจรับผิดชอบพื้นที่โซน/อำเภอ ให้วิทยากร ครู ก. ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น และจิตอาสา 904 ครู ก. เป็นพี่เลี้ยงและช่วยเหลือสนับสนุน ครู ข. ในการทำกิจกรรมในระดับพื้นที่ ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย, โซนที่ 2 อำเภอสทิงพระ กระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด, โซนที่ 3 อำเภอควนเนียง บางกล่ำ และอำเภอรัตภูมิ, โซนที่ 4 อำเภอสะเดา คลองหอยโข่ง และอำเภอนาหม่อม และโซนที่ 5 อำเภอเมืองสงขลา หาดใหญ่ และอำเภอสิงหนคร” นายสมนึก กล่าวเน้นย้ำ
นายสมนึก กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยในส่วนของการจัดอบรมครู ข. นั้น จะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ โดยจะเชิญครู ก. ระดับจังหวัดที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเข้าร่วมเป็นครูผู้สอน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น และการถ่ายทอดให้ความรู้ “10 อัญมณี” ในระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2567 โดยเรียนเชิญนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1164/2567 วันที่ 13 มิ.ย. 2567