วันนี้ (13 ก.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทาราไลฟ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก โดยมี คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE พร้อมด้วย อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE และคณะ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ผลิตภัณฑ์ประเภท 4-5 ดาว จำนวน 200 กลุ่ม จาก 68 จังหวัด ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องกลุ่มผู้ประกอบการ ระดับ 4-5 ดาว ผู้มีความรู้ความสามารถจนได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรม OTOP Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และขอขอบคุณผู้เป็นกำลังสำคัญในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ชาวกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ในวันนี้
“ตลอดระยะเวลาในห้วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา โครงการต่าง ๆ ของกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในทุกฝีก้าว อันมีนัยสำคัญว่า พวกเราผู้เป็นข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนต้องเป็นโซ่ข้อกลางในการสื่อสารสังคมให้เป็นที่รับรู้ รับทราบ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นประดุจสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พี่น้องที่เป็นผู้ประกอบการ OTOP ระดับฝีมือดี คือ 4 – 5 ดาว รวมถึงผู้ประกอบการทุกท่านต้องพึงตระหนักอยู่เสมอว่า เพราะทุกลมหายใจของพระองค์ท่านนั้นทรงมีแต่ความห่วงใยพี่น้องประชาชน ทรงมีแต่ความห่วงใยพวกเราที่เป็นผู้ประกอบการ OTOP เพราะพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่า การต่อสู้ในเชิงธุรกิจในสังคมทุนนิยมแบบประเทศไทย มีลักษณะเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็กเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่ประเทศไทยอาจจะหนักกว่าประเทศอื่น เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสสู้กันแบบเสรีลำบาก ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีงบประมาณอันจำกัด และบุคลากรที่สามารถถ่ายทอด “Knowhow” ในด้านธุรกิจมีไม่เพียงพอกับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์อย่างมากมายหลากหลาย ทั้งนี้ คำว่า “OTOP Premium ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น” และยิ่งเมื่อกล่าวถึงคำว่า “โค้ชชิ่ง” ก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับเนื่องแต่มีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 ได้พยายามขับเคลื่อนในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและคุณภาพสินค้า OTOP เพื่อให้พี่น้องผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง อาทิ หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นแก่พี่น้องประชาชน และในปัจจุบันหลาย ๆ พื้นที่ก็ได้รับความนิยมชมชอบและความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนทั้งหมดที่ผ่านมานั้นเป็นทฤษฎีของกระบวนการ R&D แต่ยังไม่เป็นผลมาก จนมาถึงปี 2563 ด้วยพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยมีความอยู่ดีมีสุข จึงพระราชทานพระดำริให้กับกระทรวงมหาดไทยผู้มีความหวังที่อยากจะเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งกรมพัฒนาชุมชน ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต่างผสมงานผสานใจทำหน้าที่ของเรา คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขของประชาชนทุกคนนั้น คือ “outcome” ของกระทรวงมหาดไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเข้ามาต่อยอดวงจรชีวิตของผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทย เปรียบประดุจแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ส่งมาพร้อมกับนวัตกรรม ทำให้ผ้าไทย รวมถึงงานหัตถกรรม หัตถศิลป์อื่น ๆ มีลวดลายที่แตกต่างออกไปจากเดิมที่เคยมีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งหากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะมีสักกี่คนที่คิดว่า เราจะมีลายผ้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์ควบคู่กับมีความทันสมัย ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดทำให้ผ้าไทยมีชีวิตอยู่ได้จนถึงวันนี้ ด้วยวิธีการ “ไม่ทิ้งลายเก่า พัฒนาลายใหม่” สอดรับกับแฟชั่นนิยม และชีวิตของผู้คน ที่ยังคงกลิ่นอายเสน่ห์ของผืนผ้าที่ชวนหลงใหลให้คะนึงถึงการสืบสานรักษาวิธีการผลิตแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ทั้งการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นศึกษาองค์ความรู้และวิชาการแฟชั่นจากทางยุโรปมาผสมผสานภูมิปัญญาไทย จนทำให้ผ้าไทยเกิดความหลากหลาย ทันยุค ทันสมัย เหมาะกับคนสมัยใหม่ อันสะท้อนให้เห็นว่า ที่พวกเรามีวันนี้ได้ เราต้องไม่ลืมวันเก่า ว่าเราได้นำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาใช้หาเลี้ยงชีพได้ รวมทั้งต้องไม่ลืมคุณครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้มาให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ THAI TEXTTILES TRENDBOOK พร้อมพระราชทานหลักการใช้สี Pantone หรือ Earthtone มีการไล่สีหลายระดับตามเทรนด์แฟชั่น ตลอดพระดำริ Sustainable Fashion ซึ่งทั้งหมดมาจากความรักที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเรา ทำให้ในทุกวันนี้ ไม่ว่าตนได้ไปตรวจราชการในจังหวัดต่าง ๆ ไปที่ไหนก็มีความสุขที่ได้เห็นผู้ประกอบการผ้า พี่น้องกลุ่มทอผ้าได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สอดคล้องกับที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ประกาศเจตนารมณ์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึกนี้ เป็นโครงการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และ “Change for Good” ให้กับพวกเรา จึงขอให้พวกเราทุกคนได้เก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้ในวันนี้ รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในทุกเรื่อง ช่วยกันทำให้วงจรการผลิตของพวกเราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน ดังที่พระองค์ทรงเน้นย้ำถึงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้มาก ซึ่งการพึ่งพาตนเองไม่ได้เพียงแค่ตนเองและเพื่อนบ้าน แต่รวมไปถึงเกษตรกรในชุมชน ที่เราต้องจับมือปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าโดยใช้สีธรรมชาติ ทำให้เกิด Sustainable Fashion ที่เรามีกลุ่มทอผ้ากลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งเราจะช่วยสนับสนุนในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำฝ้าย หรือช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกันได้ อันจะหนุนเสริมความรักความสามัคคี ช่วยกันทำให้เกิดความยั่งยืนในเครื่องนุ่งห่ม และความมั่นคงอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เราต้องพึ่งพาตนเองได้ และถ่ายทอดมาจนถึงเยาวชนคนรุ่นหลัง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องไม่ลืมบุญคุณของบรรพบุรุษ บุญคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึง ขอให้พวกเราในฐานะข้าราชการที่ดี และพสกนิกรที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันขยายผลส่งผ่านองค์ความรู้ให้คนรอบข้างที่สนใจ ได้เข้ามาเป็นเสาหลักแห่งความมั่นคงด้านปัจจัย 4 ให้กับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความมั่นคงทางด้านเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะผู้ประกอบการจึงต้องช่วยกันยกระดับผลิตภัณฑ์ จาก OTOP Premium ให้มีความ Premium มากยิ่งขึ้น รวมถึงยกระดับตลาดเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ช่วยทำให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการถ่ายทอดวิชาให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ดี ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ ต้องนำมาใช้ศึกษาเรียนรู้และต้องทำให้เกิด Sustainable Fashion ได้มาอยู่บนผลิตภัณฑ์ของเราโดยให้กรมการพัฒนาชุมชนช่วยกันพัฒนาบุคลากร ให้พัฒนาการจังหวัด พัฒนากร ทำคู่มือรายชื่อกลุ่มที่ได้รับรองเป็น Sustainable Fashion ที่มีการการันตีตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ที่องค์การนานาชาติให้การรับรอง ทำให้สินค้าของเราถูกอกถูกใจของคนที่มีความรักลูกของเรามากยิ่งขึ้น” โดยมีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนสนับสนุนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการ OTOP Premium ทุกท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า จาก 2 แสนกว่าผลิตภัณฑ์เหลือเพียง 200 ผลิตภัณฑ์ ในวันนี้ สิ่งสำคัญของพวกเรา คือ การสร้างแบรนด์ดิ้งให้มีการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น โดยการรักษาไว้ซึ่งคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นในทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจรวมถึงสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ อันจะทำให้ผลิตภัณฑ์ OTOP Premium ได้ก้าวไปสู่แบรนด์ระดับโลกได้ ซึ่งในวันนี้พวกเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีความห่วงใยในพสกนิกรคนไทย และได้พระราชทานให้คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยมาช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงถ่ายทอดสิ่งที่ดี เพื่อให้ประชาชนได้มีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP Premium สู่สากล ระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2567 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP Premium ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ยกระดับแบรนด์ OTOP โดยมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผู้ประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สินค้า OTOP Premium สู่สากล การจัดทำและตีพิมพ์หนังสือ OTOP Premium สู่สากล และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์และการประชาสัมพันธ์
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1391/2567 วันที่ 13 ก.ค. 2567