วันนี้ (20 ก.ค. 67) นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมสนับสนุนสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้ได้มีทักษะ ประสบการณ์ และองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการที่สมาชิกทุกคนนำเงินไปลงทุนเพื่อขยายโอกาส ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้นำเงินจากกองทุนฯ เกิดเป็นกำไรเพื่อคืนทุนกลับไปให้โอกาสกับสมาชิกคนอื่น ๆ ต่อไป
“หลักการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิต เพื่อให้พี่น้องสมาชิกทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถลดรายจ่ายครัวเรือน พร้อมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “Sustainable Fashion” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อมุ่งส่งเสริมการผลิตผืนผ้าที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค และสอดคล้องกับแฟชั่นนิยมสมัยใหม่ ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบเดียวนี้ ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การนำของ นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ผ้าพื้นถิ่นอัตลักษณ์เมืองนคร (แปลงหม่อนไหม) เพื่อหนุนเสริมการผลิตวัสดุในพื้นที่ยกระดับสู่การพัฒนาเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยมุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาบทบาทคณะกรรมการพัฒนาสตรีทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกสตรี ให้เป็นแกนหลักในการเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ชุมชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณประเภทเงินอุดหนุน (เงินทุนให้เปล่า) จำนวน 2 แสนบาท จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการจัดทำโครงการฯ ในช่วงวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี คณะกรรมการพัฒนาสตรีจาก 23 อำเภอ อำเภอละ 6 คน รวม 138 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรซึ้งเป็นภาคีเครือข่ายผู้มีความรู้ความสามารถจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และสถาบันฝึกอบรม Work Smart” นายขจรเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
นายขจรเกียรติ ยังได้กล่าวอีกว่า ในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยงบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในครั้งนี้ ได้มีการศึกษาดูงานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เรียนรู้การผลิตผ้าไทยพื้นถิ่นด้วยเส้นใยธรรมชาติ เชื่อมโยงสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ณ บ้านสวนหม่อนไหม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านเนินมวง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นความสำเร็จขั้นต้นของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพุ่งเป้าสู่การจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นใยธรรมชาติในทุกอำเภอ” และ “การขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ผ้าทอ ยกดอกเมืองนคร” ต่อไป ซึ่งพี่น้องสตรีทั้ง 23 อำเภอให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และร่วมกันให้คำมั่นสัญญาว่าจะขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช จะได้ผนึกกำลังทีมจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หนุนเสริมการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาสตรีทั้ง 23 อำเภอ เพื่อให้เกิดศูนย์การเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นใยธรรมชาติ เป็นพื้นที่ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1423/2567 วันที่ 20 ก.ค. 2567