น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงกมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (24 ก.ค. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีส่งมอบบ้าน “โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อมผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และกรมโยธาธิการและผังเมืองเข้าร่วม ณ ห้องประชุมนริศรานุสรณ์ ชั้น 11 อาคาร 11 ชั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง
นายอนุทิน กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยน้อมนำพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท พระราชกรณียกิจ มาประยุกต์ เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมโดยรวม
กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับนโยบายไปดำเนินการ ซึ่งการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม เป็น 1 ใน 6 โครงการ ที่ทางกรมฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนเพื่อการเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายเป็นพระราชกุศล ในโอกาสมหามงคลนี้
นายอนุทิน กล่าวว่า โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ฯ เริ่มดำเนินการพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 67 ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 86 หลังคาเรือน และทำการส่งมอบเป็นทางการพร้อมกันในวันนี้ (24 ก.ค. 67) ซึ่งทั้งหมดได้ช่วยยกระดับด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความปราบปลื้มของประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ และจิตอาสาที่ได้ร่วมโครงการจากทุกภาคส่วน
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ต่อเนื่องจากพิธีส่งมอบบ้านแก่ผู้ยากไร้ฯ แล้ว นายอนุทิน ได้รับทราบผลความคืบหน้าโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ 72 พรรษา ที่กรมโยธาธิการฯ ร่วมขับเคลื่อน 6 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ฯ 2.โครงการ 72 พรรษา 7,300 โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ 4. โครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 5. โครงการจัดทำซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 6. โครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข
ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ได้ร่วมกับผู้บริการกระทรวงมหาดไทยและกรมโยธาธิการฯ ปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นพรรณไม้ประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเป็นการเชิดชูถึงพระมหากรุณาธิคุณที่สูงสุดของพระองค์ด้วย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1445/2567 วันที่ 24 ก.ค. 2567
สำหรับข้อมูลโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 6 โครงการ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า จากพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่พระราชกรณียกิจนานัปการที่ช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วแผ่นดินไทย และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ได้ขานรับนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีโครงการที่สำคัญ 6 โครงการ ได้แก่
1) “โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ซึ่ง กรมฯได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้าน “จิตอาสา” มาบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและจิตอาสาในพื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ แต่ใช้งบประมาณที่ได้จากการบริจาคของภาคีเครือข่ายและจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมมือร่วมแรงปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ ให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย ซึ่งมีเป้าหมายจำนวน 86 หลังคาเรือน ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลของผู้ยากไร้ในระบบ Thai QM ตามผังภูมิสังคม โดยดำเนินการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น ซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม 1 จังหวัด 1 หลังคาเรือน และบ้านผู้ยากไร้ที่ต้องซ่อมแซมเร่งด่วน จำนวน 10 จังหวัด 10 หลังคาเรือน ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงราย สุราษฎร์ธานี ตรัง นนทบุรี นครนายก นครราชสีมา สุรินทร์ สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการ KICK OFF เพื่อขับเคลื่อนโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ปัจจุบัน ดำเนินการ
แล้วเสร็จ 86 หลังคาเรือน และส่งมอบพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานส่งมอบโครงการดังกล่าว
2) “โครงการ 72 พรรษา 7,300 โครงการ พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ดำเนินการขึ้นด้วยตระหนักว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต กรมฯ จึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และใช้ข้อมูลสภาพความเป็นจริงทางภูมิประเทศทั้ง “ภูมิประเทศด้านภูมิศาสตร์” และ “ภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา” มาจัดทำข้อมูลในรูปแบบ “ผังภูมิสังคม” ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ผังภูมิสังคมฯ เป็นข้อมูลสะท้อนปัญหาด้านต่าง ๆ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้วางแผนงานและดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันให้มีการขับเคลื่อนโครงการในทุกจังหวัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินโครงการ/กิจกรรมพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ (เฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำขนาด S M และ L) อย่างน้อย 7,300 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ซึ่งปัจจุบันดำเนินการพัฒนาแล้ว 9,028 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 25,349,097 ลบ.ม. พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 13,980 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมลดลง 260,866 ไร่ พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 312,801 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 1,555,982 ครัวเรือน
3) “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” กรมฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีประยุกต์ใหม่ และอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนำที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ มาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประชาชน ให้เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ มีความมั่นคงทางอาหาร เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่ (1 พื้นที่เป้าหมาย ต่อ 1 ภาค) และจะขยายผลให้ครบทุกจังหวัด โดยแต่ละพื้นที่มีแนวคิดในการพัฒนา และมีผลการดำเนินการแตกต่างกัน ได้แก่
ภาคเหนือ : บริเวณหนองเล็งทราย ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทพื้นที่เป็น “การสืบสานอาชีพเลี้ยงควายไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อรักษา อนุรักษ์ควายไทยพื้นถิ่น ต่อยอดให้การเลี้ยงควายไทยอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้และมีความยั่งยืนทางอาชีพแก่ประชาชนได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : บริเวณชุมชนวังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทพื้นที่เป็น “วิชชาลัยอารยเกษตรบ้านวังอ้อ” เพื่อให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำ คลังยาคลังอาหาร เป็นที่สาธารณะ และศูนย์การเรียนรู้ของประชาชน
ภาคกลาง : บริเวณคลอง 15 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ เป็น “ลานธรรมกลางใจป่า ปลูกป่ากลางใจคน พุทธอารยเกษตร”
ภาคตะวันออก : บริเวณ ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ เป็น “เกษตรประณีต” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโดยปลูกพืชที่กินได้เป็นยาได้ ปลูกไม้ไว้สร้างบ้านเรือนในอนาคต ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำทุกอย่างในพื้นที่โดยไม่ใช้สารเคมี
ภาคตะวันตก : บริเวณ ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ เป็น “ดินดี มีน้ำ ป่าชุ่มชื้น” เพื่อบริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการดิน บริหารจัดการป่า และบริหารจัดการคน
ภาคใต้ : บริเวณศูนย์สารภี ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทพื้นที่เป็น “ต้นแบบทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่การท่องเที่ยวจังหวัดสตูล” นำไปสู่การพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ สวนป่ามีชีวิต แก้มลิง แปลงสาธิตแกล้งดิน พื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพื้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
4) “โครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการจัดทำผังแม่บทแนวคิดเพื่อการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชัง โดยมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การพัฒนาระบบน้ำประปา การพัฒนาสภาพแวดล้อม
และภูมิทัศน์ชุมชน และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในระยะเร่งด่วน กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พัฒนาระบบน้ำประปา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนบนเกาะ ทำให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี และลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำประปาบนฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณอ่าวจ๊อกค่อก เพื่อให้เกาะสีชังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ยั่งยืน ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน การปรับปรุงระบบจ่ายน้ำประปาได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โครงการฯ ได้เริ่มปล่อยน้ำประปาให้บริการ 2 จุดแรกที่มีความพร้อมก่อน ได้แก่ โรงพยาบาลเกาะสีชัง และ สำนักงานเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ในขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ได้ประสานไปยังประชาชนในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดเตรียมระบบท่อประปาภายในบ้านให้พร้อม เพื่อให้เทศบาลฯ เข้าดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ประปาให้กับทุกครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมปล่อยน้ำประปาให้บริการประชาชนได้ทั่วพื้นที่เกาะสีชัง ภายในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาสำหรับอุปโภค บริโภคของประชาชนบนเกาะสีชังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 2,261 ครัวเรือน
5) “โครงการจัดทำซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” กรมฯ ได้ดำเนินการออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นต้นแบบให้ทุกจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปก่อสร้างอย่างถูกต้องตามแบบแผน สวยงามสมพระเกียรติ โดยการออกแบบซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ประกอบด้วย 1) พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ 2) ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และ 3) เอกลักษณ์สำคัญของแต่ละภูมิภาคที่แสดงถึงความรักความเทิดทูนพระองค์ท่าน นำมาเป็นองค์ประกอบของซุ้มแต่ละภูมิภาค ประกอบกับลายก้านขดและลายดอกรวงผึ้ง รวมทั้งหมด 443 ซุ้ม ทั่วประเทศ
6)“โครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข” กรมฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” และพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยออกแบบพื้นที่ให้เข้ากับภูมิสังคมควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการกลไกการขับเคลื่อนงานสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่การออกแบบจัดทำผังแม่บทการพัฒนาในระดับลุ่มน้ำตลอดลำคลอง และแหล่งน้ำ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างภาพอนาคตของการพัฒนาในระดับพื้นที่ การขุดลอกคู คลอง และแหล่งน้ำ ปรับภูมิทัศน์และทัศนียภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตลอดสองฝั่งคลอง ได้แก่ การจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ ความสะอาดของทางเดิน และถนน การกำจัดขยะ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และระบบการระบายน้ำ ฯ นำร่องโดย กรุงเทพมหานคร และ 9 จังหวัด ได้แก่ 1) คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-บางลำพู) กรุงเทพมหานคร 2) ลำน้ำโจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 3) คลองแม่สุก จังหวัดพะเยา 4) คลองแม่รำพัน จังหวัดสุโขทัย 5) คลองบางพระ จังหวัดตราด 6) ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา 7) ลำห้วยพระคือ จังหวัดขอนแก่น 8) คลองปากบาง จังหวัดภูเก็ต 9) คลองหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง และ 10) คลองลัดพลี จังหวัดราชบุรี และขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ทั่วประเทศ
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ด้วยพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิการชาวไทยมาโดยตลอด กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ขอตั้งปฏิญาณ จะมุ่งมั่นดำเนินตามรอยพระยุคลบาท จะแน่วแน่สนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความใส่ใจทุกขั้นตอนในการดำเนินภารกิจต่าง ๆ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นความทุกข์ยาก มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างประโยชน์สุขสู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป