วันนี้ (24 ก.ค. 67) นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ในพื้นที่อำเภอแม่ใจ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ โดยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์อำเภอแม่ใจ พร้อมด้วยนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และหัวหน้าส่วนราชการ ประกอบด้วย นายนรินทร์ กวางทอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลเจริญราษฎร์ สมาชิกกลุ่มศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ควายไทยหนองเล็งทรายและประชาชนพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรม ณ บริเวณพื้นที่ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ควายไทยหนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ในครั้งนี้เป็นโครงการที่บูรณาการร่วมกับจังหวัดพะเยาและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งประกอบด้วย การชมนิทรรศการโครงการฯ กิจกรรมปลูกหญ้าแฝกกว่า 3,000 ต้น ปล่อยพันธุ์ปลามากกว่า 10 ล้านตัว และปลูกพืชผักสวนครัว รอบบ่อที่ 3 พื้นที่กว่า 500 ตร.ว. ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วม โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางพัฒนาคนให้พึ่งตนเองและขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ด้วยการขับเคลื่อนตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ควบคู่กับพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะพื้นที่เปิดสำหรับทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์แบบอารยเกษตรได้ ซึ่งจังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการฯ 1 ใน 6 ของประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดพะเยา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสตูล เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ดำเนินการในพื้นที่บริเวณหนองเล็งทราย ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ จ.พะเยา
“หนองเล็งทราย มีเนื้อที่ประมาณ 5,563 ไร่ เดิมมีสภาพปัญหาการตื้นเขินจากตะกอนทับถม ประกอบกับประชากรมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการขุดลอกหนองเล็งทรายให้สามารถเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำได้ จาก 9 ล้าน ลบ.ม. เป็น 23.915 ล้าน ลบ.ม. ในขณะเดียวกันได้มีกองดินที่เกิดจากการขุดลอก ทำให้เกิดพื้นที่ลานดินและกองดินหลายแห่ง อำเภอแม่ใจจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในการปรับปรุงพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของพื้นที่ โดยอำเภอแม่ใจ ได้เสนอแผนพัฒนาพื้นที่หนองเล็งทรายให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรฯ 4 จุด ประกอบด้วย 1) ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ควายไทยหนองเล็งทรายอำเภอแม่ใจ 346 ไร่ 2) สวนสาธารณะเกาะกลางน้ำรูปหัวใจ 28 ไร่ 3) โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศป่าไม้ 273 ไร่ และ 4) โครงการปรับปรุงฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์พันธุ์พืช/สัตว์ 2,530 ไร่ และในปี 2567 กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่บริเวณศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ควายไทย จำนวน 346 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งชาวอำเภอแม่ใจได้มีเป้าหมายให้เป็น “พื้นที่ชีวิต” เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาและนวัตกรรม สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าว
นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา ได้ออกแบบพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิด “จากนภา ผ่านภูผา เลียบท้องนา สู่มหานที” โดยแบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 จากนภา : การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ตามแนวพระราชดำริฯ โซนที่ 2 ผ่านภูผา : เกษตรทฤษฎีใหม่ โซนที่ 3 เลียบท้องนา : การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และโซนที่ 4 สู่มหานที : การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ การประมงและปศุสัตว์ ซึ่งจังหวัดพะเยาได้คัดเลือกโซนที่ 4 (สู่มหานที) เป็นพื้นที่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 มีเนื้อที่ 86 ไร่ 1 งาน 42.51 ตร.ว. ซึ่งจังหวัดพะเยาได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ร่วมดำเนินการ อาทิ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา ออกแบบพื้นที่โครงการฯ รวมถึงออกแบบรายละเอียดพื้นที่ ในรูปแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริฯ โครงการชลประทานจังหวัดพะเยา และ อบจ.พะเยา สนับสนุนเครื่องจักรสำหรับปรับพื้นที่โครงการฯ บริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ ขุดบ่อบำบัดน้ำเสีย 3 บ่อ ร่องระบายของเสีย คลองไส้ไก่ ปรับแนวตลิ่ง/ตะพัก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา และแขวงทางหลวงชนบทพะเยา พัฒนาต่อยอดศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ควายไทยหนองเล็งทราย สนับสนุนองค์ความรู้/ท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียปากช่อง 1 สำหรับเก็บเกี่ยว พื้นที่ 21 ไร่ และจัดทำแปลงหญ้าพันธุ์รูซี่ผสมกับพืชตระกูลถั่ว สำหรับให้สัตว์แทะเล็ม พื้นที่ 50 ไร่ สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณในการฟื้นฟูและพัฒนาดินให้มีคุณภาพ รวมถึงระบบน้ำแบบโซลาร์เซลล์พร้อมถังสูงเพื่อเก็บ/กระจายน้ำสำนักงานประมงจังหวัดพะเยา สนับสนุนงบประมาณ สำหรับปรับแนวตลิ่ง ทำแซนวิชปลา (อาหารปลา) เพื่อสร้างแหล่งอาหารให้กับปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ รวมถึงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์น้ำ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา และสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าสำหรับภารกิจการปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผล บริเวณรอบบ่อบำบัดน้ำเสียและริมตลิ่ง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) อุทยานแห่งชาติแม่ปืม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย สนับสนุนงานปลูกต้นไม้ 172 ต้น พื้นที่ 3 ไร่ และอำเภอแม่ใจ กำกับดูแลในภาพรวมและบูรณาการหน่วยงาน 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานจิตอาสาภาคประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ น้อมนำอารยเกษตรสู่วิถียั่งยืน
ด้าน นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ เปิดเผยว่า อำเภอแม่ใจได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โดยดำเนินการ “สืบสาน” ศาสตร์พระราชา ว่าด้วยดิน น้ำ ป่า คน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามแนวพระราชดำริฯ “รักษา” อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสัตว์น้ำ ให้มีความสมดุลทางระบบนิเวศ และอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมไทย (ประมง/ควายไทย) และ “ต่อยอด” องค์ความรู้/เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกิจกรรมที่ทุกภาคีเครือข่ายร่วมกันทำในวันนี้เป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งที่ผิด” อย่างน้อยในเรื่องของสังคม ด้วยการร่วมกันเป็นจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจในการสมัครสมานเอามื้อสามัคคีทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล และช่วยกันแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกเปลี่ยนแปลงจนเกิดความแห้งแล้งขาดความอุดมสมบูรณ์ ให้กลับมามีความสมดุลและเกื้อกูลกันทางระบบนิเวศ ที่มีวัตถุประสงค์สูงสุด คือ การสร้างความยั่งยืนและเป็นต้นแบบการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ “ประชาชน” ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อำเภอแม่ใจ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ต้องขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่ร่วมกันสานพลังความต่อเนื่องจนเกิดผลเป็นรูปธรรม “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อไป เพื่อพัฒนาแม่ใจให้ยั่งยืน”
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1446/2567 วันที่ 24 ก.ค. 67