วันนี้ (2 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ทุกจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยดำเนินการให้ครอบคลุม ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษายาเสพติด และการดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (Re X-ray) ในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกรณีผู้ค้าและผู้ผลิตให้จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด สำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ให้นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทันที
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ใช้แนวทางในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก ควบคู่กับนโยบายการจัดระเบียบสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ภาครัฐ อาทิ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ป.ป.ส. หน่วยงานด้านสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เข้าร่วมปฏิบัติการ Re X-ray สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ พร้อมทั้งรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดและการสกัดจับเครือข่ายผู้ค้ารายใหญ่ และรายย่อยที่ลักลอบขนย้ายยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่มีการยกเว้น
“เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (Re X-ray) โดยขอความร่วมมืออำเภอทุกอำเภอดำเนินการค้นการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยดำเนินการขอความร่วมมือจากบุคคลในครอบครัว หัวหน้าสถานศึกษา ผู้นำศาสนา หรือ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เจ้าของสถานประกอบการ แจ้ง หรือ ให้ข้อมูลบุคคลในครอบครัว บุคคลในปกครองดูแล ลูกจ้างพนักงาน ที่เสพ หรือ ติดยาเสพติด เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา และขอความร่วมมือจากชุมชน ผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน หัวหน้าสถานศึกษา ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชน ให้ข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยใช้สายด่วน 1567” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ รับแจ้งประสานการปฏิบัติ และเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ไว้เป็นความลับ โดยมุ่งเน้นให้ได้ตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้ากระบวนการบำบัดรักษา และเยียวยาฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย รวมทั้งฝึกฝนทักษะอาชีพ เพื่อให้มีรายได้และสามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และคัดกรองผู้ติดยาเสพติด โดยนำตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่ระบบการคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติดโดยใช้ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด เพื่อส่งตัวเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดต่อไป
“นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดถอดบทเรียนการบูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติด ให้เป็นแบบ “Real time” ของจังหวัดสุรินทร์ ให้ทุกจังหวัดได้นำไปใช้เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันตลอดเวลา อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งให้กรมการปกครองเร่งรัดสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ชุมชนดูแลกันเอง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดระบบคุ้ม ตามแนวพระราชดำริหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมทั้งให้กรมการพัฒนาชุมชนไปกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มนำแนวทางของกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปดำเนินการให้เกิดกองทุนแม่ของแผ่นดินจนครบทุกหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1496/2567 วันที่ 2 ส.ค. 2567