เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 เวลา 14.00 น. ที่วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประกอบพิธีเปิดป้ายสถานชีวาภิบาลในชุมชนวัดหัวฝาย กุฏิชีวาภิบาลวัดหัวฝาย บ้านกลาง และชมรมคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวอำเภอพาน โดยได้รับเมตตาจาก พระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. เจ้าคณะตำบลสันกลาง เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมด้วยนายอำเภอ ทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นายศรีวรรณ วงค์จินา กำนันตำบลสันกลาง นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงราย พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และพี่น้องประชาชน ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนมีความตั้งใจที่เดินทางมาร่วมกับพี่น้องประชาชนทำพิธีเปิดป้ายสถานชีวาภิบาลในชุมชนวัดหัวฝาย กุฏิชีวาภิบาลวัดหัวฝาย บ้านกลาง และชมรมคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวอำเภอพาน ภายใต้ความเมตตาของ พระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. เจ้าคณะตำบลสันกลาง เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ผู้นำคณะสงฆ์ผู้มีเมตตาสงเคราะห์ญาติโยมทั้งในจังหวัดเชียงราย และทั่วประเทศ กระทั่งท่านได้รับอาราธนานิมนต์ให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะท่านได้แสดงเจตนารมณ์ด้วยการ “ลงมือทำ” เป็นผู้นำดูแลกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ทั้งผู้พิการและผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ สอดคล้องตามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงมหาดไทยและมหาเถรสมาคม 3 โครงการสำคัญ คือ 1) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม 2) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ร่วมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของ วัดและบ้าน ตามหลัก 5 ส. และ 3) โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่ หมู่บ้านศีลธรรม” ร่วมกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เพื่อรณรงค์ให้คนมีศีลธรรม ไม่ได้เพียงแค่ศาสนาพุทธ แต่รวมไปถึงศาสนาคริสต์ อิสลาม และทุกศาสนา
“วันนี้เราได้รับเมตตาจากพระสงฆ์องค์เจ้า พระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. เจ้าคณะตำบลสันกลาง เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการสงเคราะห์ญาติโยม ซึ่งสิ่งที่ท่านทำนั้นสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้นำของพื้นที่อำเภอ” คือ ท่านนายอำเภอทุกอำเภอ ต้องนำแนวทางนี้มาบูรณาการทำงานจับมือร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกอำเภอ ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่เพิ่มมากขึ้น และขจัดปัดเป่าความทุกข์หรือปัญหาของชีวิตให้เบาบางลงจนหมดไป ซึ่งคำว่า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นปณิธานและจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่พี่น้องทั้งผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น ต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างยั่งยืน ดังเช่นเมื่อสักครู่ จากการตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับผู้สูงอายุที่บ้านกลาง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้ได้ทราบข้อมูลว่า ป้าผู้มาพักไม่มีบ้านอยู่เพราะบ้านที่เคยอยู่ได้รับความเสียหาย โดยเมื่อกำนันตำบลสันกลางได้รับทราบข้อมูล จึงได้รับปากว่าจะช่วยซ่อมแซมบ้านให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน จึงขอขอบคุณท่านกำนัน และขอให้พวกเราชาวตำบลสันกลางได้ร่วมกับท่านกำนันช่วยกันดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมช่วยเหลือ เพื่อตำบลสันกลางของพวกเราได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความรัก ความสามัคคี ความเมตตาการุญอาทรกันและกัน ดังที่วันนี้พวกเราทุกคนต่างมากันด้วยความสำนึกในบุญคุณของพระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. รวมทั้งขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ช่วยกันขยายผลสิ่งที่ดีนี้ไปยังทั่วทั้ง 231 หมู่บ้านของอำเภอพาน พร้อมทั้งช่วยกันชักชวนให้พื้นที่อื่น ๆ มาศึกษาดูงาน มาช่วยกันให้กำลังใจ ร่วมกันอนุโมทนา และดูแลให้สมาชิกของสถานชีวาภิบาลแห่งนี้ได้รับคำแนะนำที่ดีจากแพทย์ ให้ได้รับการดูแลจากอสม. ได้รับอาหารครบทุกหมู่ อยู่ในสถานที่ที่สะอาด สวยงาม รื่นรมย์ ด้วยความสุข” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่พวกเราในฐานะผู้นำพื้นที่ ตลอดจนถึงผู้นำท้องที่ และท้องถิ่น ต้องช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน นั่นคือ “สุขภาพพลานามัย” ด้วยการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายในทุกวัน ค้นหาผู้นำการออกกำลังกายมาทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งการจะทำให้คนอำเภอพานทั้ง 100% ได้มีสุขภาพที่ดี ต้องทำอย่างน้อยที่สุด 3 เรื่อง คือ 1) เรื่องอาหาร ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และทางนี้มีผลผู้คนรักกัน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางในการ พึ่งพาตนเองด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไว้ในบริเวณพื้นที่ว่างของบ้าน และริมถนนสาธารณะ หรือพื้นที่สาธารณะของชุมชน เพื่อที่สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน จะได้มีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคพืชผักปลอดสารพิษเหล่านี้ และยังเป็นการส่งเสริมพลังความรักสามัคคี เพราะทุกคนจะได้ร่วมกันเอามื้อสามัคคี ได้ออกกำลังกายไปในตัว และยังจะได้มีพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้แบ่งปันภายในหมู่บ้าน/ชุมชน 2) เรื่องการออกกำลังกาย ด้วยการต้องออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที บริเวณพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน หรือพื้นที่ว่างภายในบ้าน ซึ่งการออกกำลังกายมีหลายรูปแบบ โดยหากทุกคนทำอย่างต่อเนื่องก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และ 3) เรื่องการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพพลานามัย ต้องระมัดระวังอย่าให้ตนเองเป็นคนประมาทที่ไม่รู้เรื่องการประพฤติปฏิบัติตัวว่า “กินอะไรที่จะส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ” โดยเฉพาะโรคที่สำคัญ เมื่อเป็นแล้วเป็นเวรเป็นกรรม น่าสงสารที่สุด นั่นคือ “โรค Stroke หรือเส้นเลือดในสมองชำรุด รั่ว ซึมแตก หรือชื่อเป็นทางการว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” โดยขอให้ท่านนายอำเภอได้เชิญชวนให้คนในอำเภอพาน และทุกอำเภอ สมัครเข้าร่วมโครงการเดินวิ่งปั่นแสงนำใจไทยทั้งชาติ ครบ 100% ซึ่งในวันจัดกิจกรรมนั้นก็สามารถใช้พื้นที่ถนนในพื้นที่อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน จัดกิจกรรมพร้อมกับส่วนกลางได้
“อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญถัดมา คือการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็ก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา กระทั่งเป็นเด็กเล็ก เด็กโต ด้วยการส่งเสริมการดูแลสุขภาพอนามัยของแม่ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข และเมื่อคลอดออกมาแล้วต้องมีคู่มือในการดูแลให้เด็กเล็กได้รับการบริโภคสารอาหารที่ครบถ้วน ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดสถานที่สำหรับสันทนาการควบคู่การเรียนรู้ โดยสามารถบูรณาการร่วมกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเล็ก ได้ฝึกสมองและฝึกกล้ามเนื้อ ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงสมบูรณ์ และเมื่อเด็กโตขึ้นก็ให้ได้รับการบริโภคอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่ในการเรียนรู้ตามวัย ในท้ายที่สุดเด็กทุกคนต้องได้รับการเรียนหนังสือ หากพบเด็กที่พบปัญหาขาดแคลนทุนการศึกษา วัสดุอุปกรณ์ ทุกคนต้องช่วยกันเป็นจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ โดยไม่ต้องผ่านการฝึกอบรม ไม่ต้องมีเครื่องแบบ แต่ต้องมี “ใจและความประพฤติปฏิบัติ” ที่เป็น “จิตอาสา” เฉกเช่นสิ่งที่พระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. ทำ ถือเป็นจิตอาสาชั้นอ๋อง อันหมายความว่า เป็นจิตอาสาที่มีความโดดเด่น เพราะใจท่านมีความเมตตากรุณาอยากช่วยเหลือสงเคราะห์ศรัทธาญาติโยมทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ดังนั้น พวกเราคนหมู่บ้านเดียวกัน รู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและนำข้อมูลข่าวสารไปยังผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น คือ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายราชการ คือ ปลัดอำเภอ และข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล ถึงนายอำเภอถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงผู้นำทางศาสนา คือ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ เพราะข้อมูลหลายส่วนไปไม่ถึงฝ่ายราชการ จึงขอให้วิถีชีวิตเราตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เราจะไม่เพิกเฉยถ้าเกิดเจอปัญหาที่อยู่ในพื้นที่ ถ้าเราช่วยกันแก้ไขได้ในพื้นที่ เราก็จะช่วย ช่วยไม่ได้เพราะเกินกำลังเราก็จะบอก “ผู้นำ” ที่สามารถพึ่งพาได้ และสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย คือ ต้องพาลูกหลานเข้าวัดเข้าวา ถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรม การทำอาหาร การทำบุญใส่บาตร รู้จักไหว้พระก่อนนอน กราบพระรัตนตรัยทุกคืน ก่อนออกจากบ้านก็ต้องไหว้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย กลับมาบ้านก็ต้องไหว้ ซึ่งจะส่งผลให้เขาเป็นเด็กที่มีความอ่อนหวาน เป็นเด็กเรียบร้อยเป็นคนดี แต่ที่สำคัญพ่อแม่ปู่ย่าตายายต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันขยายผลทำความ ดี ด้วยหัวใจ ช่วยกันดูแลกลุ่มเปราะบาง ช่วยกันขยายผลโครงการชีวาบาล โรงเรียนผู้สูงอายุ ในการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้มีคุณูปการต่อครอบครัว ต่อสังคม ที่บั้นปลายมีความยากลำบากเพราะสุขภาพร่างกายและครอบครัวไม่เอื้ออำนวยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยกันทำให้สมกับคำว่า บ้านเมืองไทยของเราเป็นเมืองพุทธ ดังนั้น ความเมตตากรุณา การช่วยเหลือสงเคราะห์ที่ท่านพระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. ได้ดำเนินการอยู่ดีนี้ พี่น้องประชาชนทุกคนต้องช่วยกันสนับสนุน ทำให้เกิดขึ้นที่บ้าน ที่หมู่บ้าน และที่ตำบลของพวกเรา โดยมีนายอำเภอ กำนัน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยทำให้เกิดขึ้นเต็มพื้นที่ของอำเภอพาน เพื่อที่พวกเราทุกคนจะมีความสุขด้วยกัน จากการที่พวกเราช่วยกัน ทำความ ดี ด้วยหัวใจ เป็นกำลังสำคัญของการดูแลช่วยเหลือครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติมีความมั่นคง ทำให้พี่น้องประชาชนคนที่เป็นญาติมิตรและคนที่เรารู้จักและไม่รู้จักได้มีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อความสุขที่เรามีด้วยกันจะช่วยทำให้ประเทศชาติและสังคมของเรามีความมั่นคงอย่างแน่แท้ตลอดไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1593/2567 วันที่ 15 ส.ค. 2567