เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 67 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม MOI War Room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ (SARABURI SANDBOX A LOW CARBON CITY) โดยมี นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายสันชัย พัฒนะวิชัย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสระบุรี นางจริยา ชุมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ เพื่อช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน ภายหลังจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมประกาศความร่วมมือ “MISSION 2023” ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของกระทรวงมหาดไทยในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล และได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (อบจ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (อบต.) เพื่อส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนช่วยลดโลกร้อนตามนโยบายภาครัฐ ด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทุกงานก่อสร้าง ตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมี สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) เข้าแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั้งหมด เพื่อร่วมกันลดโลกร้อน สนับสนุนยกระดับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมุ่งสู่ Thailand Net Zero โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องขอบคุณ TCMA ที่ได้ร่วมบริจาคปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกให้กับพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พื้นที่จากถนนลูกรังได้รับการพัฒนาสู่ถนนคอนกรีตโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งและการเดินทางของประชาชนในการติดต่อกับทางราชการ และเดินทางไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลในตัวอำเภอเป็นไปอย่างสะดวกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่ถนนลูกรังสร้างความยากลำบากในการสัญจรของประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ จากการที่ทาง TCMA ได้น้อมนำพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำด้วยการสนับสนุนการจัดทำฝายชะลอน้ำ หลุมขนมครก ฝายแม้ว ยังช่วยทำให้บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนัก กระทั่งล่าสุด ได้รับรายงานจากทางจังหวัดพะเยาว่า อำเภอแม่ใจเป็นอำเภอเดียวของจังหวัดพะเยาที่รอดพ้นจากสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ และหลุมขนมครกยังส่งผลดีกับประชาชนในช่วงฤดูแล้ง เพราะได้มีแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคต่อไป นอกจากนี้ ในเรื่องการลดภาวะโลกร้อน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังได้ร่วมกับทุกจังหวัดส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันมีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ให้สามารถจำหน่ายได้กว่า 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในราคาตันละ 260 บาท และเงินรายได้กลับคืนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ และล่าสุด หอการค้าไทย ร่วมกับ TCEB และกลุ่มเซ็นทรัล ได้มีการจัดทำ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Neutrality 4 ALL) เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองดังกล่าว
“วันนี้เป็นการประชุมเรื่องที่ส่งผลดีกับโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน โดยกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบข้อมูลจาก “สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA)” ภายใต้การนำของ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมฯ ถึงการขับเคลื่อน “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” ซึ่งมีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ด้วยศักยภาพของจังหวัดสระบุรีที่มีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน เรียกได้ว่า “ทำงานเป็น Parnership ร่วมกัน” จึงเป็นที่มาของการที่ TCMA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดเลือกให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ขอขอบคุณสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ที่ช่วยทำให้สังคมตื่นตัวและช่วยดูแลวังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกระทรวงมหาดไทยยินดีเป็นภาคีเครือข่ายที่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางขับเคลื่อนสิ่งที่สมาคมฯ คิดและผลักดันให้เกิดการดำเนินการในวงกว้างไปด้วยกัน ซึ่งน่าดีใจที่สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ จะเป็นต้นแบบที่ดีของประเทศชาติ ด้วยความพร้อมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ตลอดจนการประกอบอุตสาหกรรมที่ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รับใช้สังคมมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผน สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง ขับเคลื่อนขยายผลแนวทางการดำเนินการ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” และเรื่องโรงเรียนไร้ขยะ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จควบคู่การประมวลแนวทางการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติของภาคราชการ ตลอดจนการประกอบการของผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ รวมถึงภาคเกษตรกรรม และจัดทำเป็นคู่มือ (Cookbook) ให้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อพิจารณาดำเนินการตามสภาพภูมิสังคมของพื้นที่ และสร้างความรับรู้เข้าใจ รณรงค์ให้ทุกภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน/หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จภาพรวมทั้งประเทศ อันจะทำให้เกิดความยั่งยืนของชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมตลอดไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ปรับปรุง (Revise) แบบโครงสร้างของอาคารที่ทำการหน่วยงานราชการ และสถานที่จอดรถ (Car Park) ให้สามารถรองรับ Solar Rooftop และขยายผลให้ทุกส่วนราชการ ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า และทุกภาคส่วน รวมทั้งได้ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้พิจารณานำเสนอรูปแบบและแนวทางในการส่งเสริมให้ครัวเรือนได้ติดตั้ง Solar rooftop เพื่อลดค่าครองชีพของครัวเรือน และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับนักศึกษาสายอาชีพ และประชาชนที่มีความรู้ด้านระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดการสร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่นที่อยู่ เกิดประโยชน์กับชาวบ้านทันทีอีกด้วย
“สิ่งสำคัญที่พวกเราในฐานะข้าราชการที่ดีและพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต้องน้อมนำแนวพระราชดำริ และพระดำริของทุกพระองค์ นับเนื่องแต่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านการพระราชทานหลักอารยเกษตร (การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา) ตลอดถึงพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กเล็กของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระดำริ Sustainable Fashion ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการผนวกรวมไว้ในแผนปฏิบัติการตลอดจนคู่มือการดำเนินงานอันจะเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนด้วยหลักการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้ ชาวมหาดไทยเต็มใจและรู้ดีว่าสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนเกิดประโยชน์กับส่วนรวม เราจึงตั้งใจในการที่จะ Action Now เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน ดร.ชนะ ภูมี กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เป็นองค์กรต้น ๆ อย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณจังหวัดสระบุรี โดยเฉพาะท่านบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ที่ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนงาน “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” ด้วยกันอย่างแข็งขัน ซึ่งตลอด 1 ปี ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในชุมชน อาทิ การจัดทำ Solar ในบริเวณลานจอดรถของศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี ทำให้สามารถลดค่าไฟให้กับส่วนราชการ และยังผลทำให้มีพลังงานสีเขียว ทั้งนี้ ผลสำเร็จของงานไม่สำคัญเท่ากับกระบวนงานที่เราได้ทำงานร่วมกัน จนทำให้โครงการเดินหน้าได้โดยความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขที่สำคัญภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2019 ลดลงจากปี 2015 ที่มีจำนวนร้อยละ 27.93 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) เหลือเพียงร้อยละ 22.10 และยังพบว่าในภาพรวมประเทศไทย มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) มากถึงร้อยละ 90 เหลือยังคงใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เพียงร้อยละ 10 และเชื่อว่าประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศแรกที่ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) หรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน 100% ในเร็ว ๆ นี้ และในด้านพลังงานยังพบว่า “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” สามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด โดยสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 100,000 เมกะวัตต์ ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการใช้พลังงานเพียง 30,000 เมกะวัตต์ ด้วยมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้ในการเพิ่มพูนการผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมาก
ด้าน นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 หรือ Energy Transition เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ จึงได้มีความร่วมมือดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ (Low Carbon and Livable City) และจะได้นำแนวทางการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบแนวทาง ไปร่วมหารือกับภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมด้านพืชพลังงานต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1665/2567 วันที่ 26 ส.ค. 2567