วันนี้ (29 ส.ค. 67) ที่โรงแรม Prince Palace กรุงเทพฯ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ในฐานะหัวหน้าสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ ที่ดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ประจำปี 2567 โดยมี ผู้แทนสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้แทนกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นางมณฑ์หทัย รัตนนุพงศ์ ผู้อำนวยการกองต่างประเทศในฐานะรองหัวหน้าสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ หัวหน้าหน่วยงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมงาน
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ปัญหาการอพยพหลบหนีเข้าเมือง” ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่นานาชาติให้ความสนใจและพยายามร่วมมือกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2518 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินโดจีน (ลาว เวียดนาม และกัมพูชา) ทำให้ผู้อพยพชาวอินโดจีนกว่า 1 ล้านคน อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ผู้หนีภัยการสู้รบอยู่บริเวณชายแดนไทยเป็นการชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรมและอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามหรือการเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ
“ปัจจุบันนี้ ยังคงมีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา จำนวน 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี โดยมีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา จำนวน 77,564 คน ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในการจัดระเบียบ ควบคุมดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และการกำกับดูแลองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบฯ ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน” นายชำนาญวิทย์ กล่าวในช่วงต้น
นายชำนาญวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งในส่วนราชการของไทยที่มีบทบาทหน้าที่ด้านการระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าว โดยที่ผ่านมากระะทรวงมหาดไทยได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เช่น การแจกจ่ายเครื่องอุปโภค-บริโภค การศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ และด้านสาธารณสุข โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนร่วมด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จวบจนวันนี้ก็กว่า 3 ปีแล้วที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และมีแนวโน้มสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย ส่งผลให้โครงการส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจต้องพบกับความท้าทายครั้งสำคัญ รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่ผ่านมา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดอาชญากรรมในรูปแบบดิจิทัลนำไปสู่การค้ามนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นผลให้กระทรวงมหาดไทยมีความจำเป็นต้องยกระดับการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อการติดตามประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการพิจารณาการดำเนินกิจกรรมและโครงการที่เหมาะสมตามไปด้วย
การจัดประชุมสัมนาฯ ในวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่ตนอยากฝากให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้นำมาเป็นประเด็นในการพูดคุย 1) จะมีวิธีการใดที่สามารถส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับคนกลุ่มนี้ได้มีอนาคตที่สดใส สามารถออกไปสู่ประเทศโลกที่สามอย่างมีคุณภาพ ได้รับการศึกษาและมีสิทธิที่จะสามารถประกอบอาชีพได้ตามที่ตนมุ่งหวัง 2) การหาแนวทางว่าจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าหากมีกรณีที่ประเทศที่สามไม่รับผู้อพยพเข้าประเทศ ซึ่งเราจะต้องมาร่วมกันพูดคุยขบคิด หาวิธีการสร้างคุณสมบัติที่พึงประสงค์ เช่น เรื่องการพัฒนาด้านศึกษา สุขภาพความเป็นอยู่ การพัฒนาอาชีพ เพื่อดูแลผู้อพยพเหล่านี้ให้มีทักษะและความสามารถเพียงพอและได้รับการต้อนรับ เข้าไปในประเทศที่สามได้ และ 3) กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่พักพิงฯ นั้น มีหลายประเภท และมีหลายจุดหมายปลายทางที่เขาต้องการเดินทางไป เราต้องออกสำรวจความเห็นของกลุ่มคนต่าง ๆ เหล่านี้ว่ามีกลุ่มใดอยากจะเดินทางไปประเทศที่สามหรือไม่ เพื่อหาวิธีการบริหารจัดการส่งบุคคลเหล่านี้ให้ไปยังจุดหมายปลายทางที่เขาได้ตั้งใจเอาไว้ นอกจากนี้เรายังจะต้องส่งเสริมด้านการฝึกภาษาเพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารและหาทางประกอบอาชีพในประเทศที่สามต่อไปได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Brain storming) เพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ เพื่อนำมาขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมมากที่สุด เกิดการเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และหาแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป
นางมณฑ์หทัย รัตนนุพงศ์ ผู้อำนวยการกองต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ทำให้ผูเง้ร่วมสัมมนาได้รับทราบผลการดำเนินโครงการและกิจกรรมขององค์การนอกภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งรับทราบแนวทางการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในระยะต่อไป และเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือระหว่างกันในการดูแลผู้หนีภัยการสู้รบ และเพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาในการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1684/2567 วันที่ 29 ส.ค. 2567